วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

กู่ฉิน และ ชา



ในยุคที่สังคมมีความหลายหลากและแข่งขันสูง ทุกคนก็พยายามจะเติมแต่งสินค้าของตัวเอง เพื่อเพิ่มจุดขายกด้วยการสนองกิเลสของตลาด ศิลปะจีนโบราณก็ไม่ยกเว้น เช่น อาหาร งิ้วหรือดนตรีจีนเองก็ตาม ซึ่งมีเพียงแต่กู่ฉินแลชาเท่านั้นที่สวนกระแสมาตั้งแต่โบราณ เพราะทั้งสองอย่างนี้มีคอนเซปเดียวกันคือ "ความเรียบง่าย"

กู่ฉินและชา มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างชัดเจนคือ 韵 (อ่านว่า อวิ้น ตัวเดียวกับหยวนอวิ้นซานฝาง)
อักษร 韵 ประกอบไปด้วย 音 (อิน) ที่แปลว่าเสียง ทำหน้าที่บอกความหมาย และ 勻 (อวิ๋น) ทำหน้าที่แสดงการออกเสียง ฉนั้นเราจะเห็นได้ว่า 韵 นั้น เดิมทีเป็นตัวอักษรที่แสดงถึง ปลายหางของเสียง ซึ่งนั่นก็หมายถึงดนตรีนั่นเอง

เสียงในดนตรีจีนประกอบไปด้วย 声 ที่แปลว่าเสียง หมายถึงเสียงตั้งต้นของตัวโน้ตนั้นๆ และ 韵 ที่แปลว่าหางเสียง หมายถึงเอื้อนเสียงตกแต่งต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ช่วยสร้างความงดงามและลีลาให้กับดนตรีจีน และในบรรดาดนตรีทั้งทั้งหมด กู่ฉินมี 韵 ที่ดีที่สุด

มาพูดถึงเรื่องชา ชาวจีนกล่าวว่า ชาที่ดีต้องมีปลายรสสัมผัสที่นุ่มลึก ซึ่งก็ใช้คำว่า 韵 เช่นกัน ทุกวันนี้ชาวจีนยกย่องให้ชาผูเอ่อร์ เป็นชาที่มี 韵 ที่สวยงามที่สุด เป็นชาที่ได้รับตำแหน่งเทียบเท่ากับกู่ฉินเลยทีเดียว แต่การเปรียบเทียบดังกล่าวยังถือว่าไม่ถูกต้องที่สุด กู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีที่พยายามตัดทอนความเยอะให้ได้มากที่สุด แต่ชาผูเอ่อร์ (รวมไปถึงชาอื่นๆ อาชิ เถี่ยกวนอิน ต้าหงเผา เกาซาน เป็นต้น) เป็นชาที่ต้องผ่านกระบวนการมากมาย กว่าจะได้รสสีและกลิ่นที่ถูกใจคน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาชนิดไหน ก็ล้วนแต่มาจากวัตถุดิบตั้งต้นชนิดเดียวกัน นั่นคือ "ชา"

ก่อนสมัยราชวงศ์ซ่ง การดื่มชาแบบโบราณนั้น จะไม่มีการแต่งเดิมใดๆทั้งสิ้น แค่นำใบชามาผ่านกระบวนการทำให้แห้ง (บ้างก็คั้นน้ำใบชาดื่มสดๆ)ในกวี 七碗茶歌 (ชาเจ็ดถ้วย) ในสมัยราชวงศ์ถัง ได้บรรยายถึงคุณสมบัติของชา หลังจากที่ค่อยๆดื่มไปทีละด้วย ซึ่งหลังจากดื่มแล้วเราจะรู้สึกว่าชาไหลไปตามอวัยวะภายในต่างๆ หลังจากนั้นจะเริ่มมีเหงื่อออก แล้วสุดท้ายจะรู้สึกตัวเบาสบายและจิตใจก็จะสงบลง กวีแอบเขียนติดตลกปิดท้ายในชามที่เจ็ดว่าไม่กล่าดื่ม เพราะกลัวจะกลายเป็นเซียนไปซะ

เร็วๆนี้ศิษย์น้องของผม (เป็น ดร ทนายความ แต่หันมาศึกษาการทำกู่ฉิน) ได้ไปพบ "ชา" นี้เข้าโดยบังเอิญ (ซึ่งมีเพียงเจ้าเดียวในจีนและจะรู้กันแต่ในวงการชาชั้นสูงเท่านั้น หาตามตลาดไม่ได้) ศิษย์น้องบอกว่า เค้าดื่มชาทั้งชีวิต ไม่เคยเจอชาแบบไหนเลย ที่เป็นไปตามกวีชาเจ็ดถ้วย เพราะชาสมัยนี้(หลังราชวงศ์ซ่งลงมา) ผ่านขั้นตอนตกแต่งมากไป ทำให้คุณสมบัติเดิมของชาหายไปจนหมด แต่ในวันนี้ก็ได้มา "ชา" แท้ๆเข้าจนได้

เราจะเห็นแล้วว่า "ชา" นี้ มีคอนเซ็ปที่จะตัดทอนความเยอะเช่นกัน ชาชนิดนี้ แทบจะไร้สีไร้กลิ่นไร้รส เพราะ 韵 ที่แท้จริงของมันไม่ได้อยู่ที่การสนองกิเลส แต่กลับเป็น韵ที่เคลือนไหวอยู่ภายใน นี่จึงเป็น 韵 ที่นุ่มลึกที่แท้จริง ดังนั้นผมจึงเห็นว่า ชาที่เหมาะกับกู่ฉินและเหมาะที่จะนำมาเปรียบเทียบว่าเป็นกู่ฉินที่สุดคือ "ชา" แบบโบราณชนิดนี้นี่แหล่ะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น