วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

วิวัฒนการของโน้ตกู่ฉิน


โน้ตกู่ฉินรุ่นแรกสุด จากที่บันทึกการลงนิ้วและตำแหน่งบนสายด้วยอักษรจีนทีละตัวๆในสมัยก่อนราชวงศ์ถัง ที่มีชื่อเรียกว่า "เหวินจื้อผู่(文字谱)" หรือโน้ตตัวอักษรจีน และเนื่องจากความซับซ้อนวุ่นวายไม่เป็นระบบของมัน ทำให้ปลายราชวงศ์ถังได้มีการนำอักษรเหล่านั้น มาย่อด้วยการลดทอนขีดลงแล้วทำมาจัดเรียงใหม่ ทำให้ประโยคยาวๆทั้งประโยค ลดลงมาเหลือเพียงตัวเดียว ซึ่งง่ายต่อการใช้งานกว่าเดิมหลายเท่าตัว โน้ตแบบนี้เรียกว่า
"เจี่ยนจื้อผู่(减字谱)" หรือโน้ตอักษรย่อ ซึ่งเป็นโน้ตที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่ยังคงใช้กันเรื่อยมานานนับพันปีแต่ข้อด้อยของเจี่ยนจื้อผู่นั้นก็คือ ไม่มีการกำกับความยาวของตัวโน้ตหรือจังหวะเอาไว้เลย ทำให้โน้ตเพลงหลายพันฉบับค่อยๆหมดลงหายใจลง หนึ่งด้วยความนิยมเปลี่ยนไปตามสมัย สองเนื่องด้วยมีการสืบทอดแบบจงใจจำกัด นั่นทำให้นักกู่ฉินหลังยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ได้เริ่มนำโน้ตกู่ฉินมาวางเคียงกับโน้ตห้าเส้นของสากล บ้างก็วางกับโน้ตตัวเลขที่ดนตรีจีนนิยมใช้ ซึ่งก็เป็นที่เฟื่องฟูมากจนกู่ฉินเริ่มกลับมามีการพัฒนาอีกครั้ง (ส่วนตัวผมกำลังใช้ระบบโน้ตอีกแบที่ปรับปรุงขึ้นมาเอง โดยศึกษาจากโน้ตโตโตะและพัฒนา ยังไม่เคยมีใครเคยคิดมาก่อน)

แต่เนื่องจากมีครูบางท่านพบว่าเจี่ยนจื้อผู่ก็วุ่นวายเกินไป ก็มีการคิดค้นสัญลักษณ์ใหม่ เรียบง่ายกว่า ดูสากลกว่ามาแทนอักษรย่อแล้วไปวางบนโน้ตห้าเส้นโดยตรง ซึ่งนั่นหมายความนักกู่ฉินรุ่นใหม่ไม่ต้องอ่านเจี่ยนจื้อผู่แล้ว อ่านห้าเส้นเล่นกันเลย แต่แน่นอนแนวคิดที่ถูกตีพิมพ์มาเป็นหนังสือนี้ ไม่ได้รับการสนับสนุน เพราะ หนึ่ง ระดับเสียงกู่ฉินในฐานะดนตรีเล่นให้ตัวเองฟัง แต่ละตัวสามารถตั้งเสียงได้ตามใจ สอง ถ้าระบบใหม่เป็นที่นิยม ต่อไปนานเข้า เจี่ยนจื้อผู้จะกลายเป็นอักษรแห่งสรวงสวรรค์จริงๆ คือไม่มีคนอ่านออก อีกทั้งเหมือนเป็นการทำให้กู่ฉินศึกษาตัดขาดจากชีพจรเดิมไปเลย ระบบใหม่นี้จึงเป็นอันล้มเหลวไป

ถึงกระนั้นก็ตาม ทุกวันนี้ก็ยังคงมีการพัฒนาระบบบันทึกโน้ตกู่ฉินอยู่เรื่อยๆ สุดท้ายก็ยังคงไปจบที่เจี่ยนจื้อผู่อยู่ดี นั่นแปลว่า เราอาจจะต้องคิดค้นระบบกำกับจังหวะแบบใหม่ขึ้นมา โดยที่ใช้สัญลักษณ์ของเก่าที่เหมาะสมอยู่แล้ว น่าจะเป็นผลดีต่อวงการกู่ฉินศึกษาทั้งในด้านการบรรเลงและวิชาการมากที่สุด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น