วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

เสียงกู่ฉินที่ไม่ได้ยิน และกลเมืองว่างในสามก๊ก



บรรยายกาศเหมาะแก่การถ่ายรูป แต่อย่าหวังว่าจะได้ยินของกู่ฉิน เพราะว่าเสียงน้ำตกนั้นดังมากครับ


ทีนี้ลองจินตนาการไปถึงสามก๊กตอน "กลเมืองว่าง" กันดูซักนิด ตอนที่ขงเบ้งเปิดประตูเมืองลวงสุมาอี้ แล้วขึ้นไปบรรเลงกู่ฉินอย่างสบายใจนั้น (จากนิยายสามก๊กต้นฉบับภาษาจีน เขียนว่าขงเบ้งบรรเลง 琴 ซึ่งหมายถึงกู่ฉินเท่านั้น แต่เนื่องจากนักแปลยุคแรกบ้านเราไม่รู้จักเครื่องดนตรีชิ้นนี้ เลยแปลกันผิดไปเป็น ขิมบ้าง พิณบ้าง กระจับปี่บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้อง) ท่านคิดว่าจริงๆแล้วเสียงกู่ฉินที่อยู่บนกำแพงเมืองสูงหลายเมตร บวกกับกองทัพขนาดใหญ่ ทั้งม้าทั้งคน วุ่นวายไปหมด เอาแค่ให้สุมาอี้คนเดียวไปยืนใต้กำแพงเงียบๆ ก็ยังไม่ได้ยิน (ซึ่งเค้าคงไม่ทำแบบนั้นแน่ ยิ่งเค้าไกล้กำแพงเมืองโอกาศโดนธนูสอยเบ้าตาก็สูงมากขึ้น)

แต่เรื่องนี้นักวิชาการจีนสรุปเรียบร้อยแล้วครับว่าเป็นเรื่องแต่ง กระนั้นก็ตามผู้แต่งได้จับจุดสำคัญของทั้งกู๋ฉินและขงเบ้งเอาไว้เป็นอย่างดี นั่นคือการที่เลือกให้ขงเบ้งเล่นกู่ฉิน ทำให้ขงเบ้งดูมีสติปัญญาสูงส่งกว่านักการทหารทั่วไป (ในตอนนี้จงใจเปรียบกับสุมาอี้) คือไม่เพียงแต่วางแผนตีรันฟันแทง แต่ยังมีความเป็นวิญญูชนอีกด้วย และการที่สุมาอี้ฟังเสียงกู่ฉินของขงเบ้งแล้วถึงกลับต้องถอยทัพนั้น ก็เป็นการแสดงออกว่า ขงเบ้งสามารถเล่นดนตรีขนาดที่ว่าคนและเครื่องเป็นหนึ่งได้ อีกทั้งยังเล่นด้วยจิตใจที่สงบ จนทำให้สุมาอี้กลัวได้

ทีนี้ไปดูด้านของสุมาอี้ การที่สุมาอี้ฟังกู่ฉินออก จุดนี้ก็เป็นการเป็นนัยๆว่า สุมาอี้ก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน คือเล่นไม่เป็นแต่ฟังเป็น เพราะในสมัยโบราณจะมีความเชื่อว่า "คนเล่นกู่ฉินว่าหายากแล้ว คนฟังกู่ฉินเป็นยิ่งหายากกว่า" นั่นเป็นการเพิ่มความสามารถของตัวละครให้สูสีกัน ทำให้ผู้อ่านลุ้นและตื่นเต้นมากขึ้นนั่นเอง


ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร นั่นเพราะว่ากู่ฉินเป็นดนตรีที่ถูกจำกัดในแวดล้อมจำลองหนึ่ง คือแวดล้อมการศึกษาในระบบ ถ้าใครได้เรียนมาถึงตรงนี้เหมือนกัน ก็จะเข้าใจการนำเสนอของเพลงกู่ฉินได้ไม่ยากเลย เพราะโครงสร้างเพลงและโครงสร้างของลักษณะความคิดอื่นๆในระบบนั้นๆ จะสะท้อนออกมาในศิลปะแขนงอื่นๆ เช่นกวี บทความ หรือภาพวาด เป็นต้น ฉนั้นเรื่องการฟังกู่ฉินเป็นจึงไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรอย่างที่คนโบราณว่ากัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น