วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

กู่ฉินเล่นยากมั้ย



คนส่วนใหญ่มักชอบเอากู่ฉินไปเทียบกับกู่เจิง หรือบางคนก็ได้รับความเชื่อว่าเรียนกู่เจิงให้จบก่อนค่อยไปเรียนกู่ฉิน เพราะกู่ฉินเป็นดนตรีชั้นสูงที่ยากมาก

กู่เจิงที่มีหย่องค้ำสายไว้แล้ว ทำให้ดีดสายไหนก็ได้เสียงที่ไพเราะถูกต้อง กล่าวได้ว่าดีดมั่วๆก็ยังน่าฟัง เทคนิคนี้เรียกว่า "สายเปล่า" แต่กู่ฉินนั้นเป็นสายยาวพาดไปตลอดทั้งตัว นอกจากการเล่นสายเปล่าแล้ว ผู้เล่นต้องใช้นิ้วกดให้ตรงตำแหน่ง

เสียงที่ถูกต้องโดยไม่เพี้ยน ซึ่งต้องอาศัยทั้งนิ้ว หูและตาในการสังเกตุ ซึ่งเรียกว่า "กดสายหรือการเดินเสียง" ดังนั้นถ้าเทียบกันแล้วกู่ฉินยากกว่ามาก

แต่กระนั้นก็ตามกู่ฉินก็ไม่ได้ยากจนน่ากลัว ที่จริงแล้วนอกจากกู่ฉิน เครื่องดนตรีที่ต้องจดจำตำแหน่งที่เรากดสายเองก็มีอีกมากมาย เช่น ซอเออร์หู ไวโอลิน หรือเชลโล่ เป็นต้น ซึ่งเครื่องพวกนี้ถ้าเปรียบเทียบกับกู่เจิงแล้ว ก็คงยากไปหมดเหมือนกัน

ผมคิดว่าเรื่องความยากง่ายของการเรียนรู้อะไรบางอย่าง ไม่ใช่เราจะเอาไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นๆ บางคนกลัวยากก็เลือกเครื่องง่าย บางคนกลัวง่ายก็เลือกเครื่องยาก ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว อาจจะไม่ได้มาจากใจจริงๆ ถ้าตัดสินใจผิด อาจทำให้การเรียนรู้ของเราลดประสิทธิภาพไปกึ่งหนึ่ง วิธีของผมคือเลือกพิจารณาสิ่งหนึ่งที่เราอยากศึกษา แล้วลองถามตัวเองว่ายากหรือง่าย ถ้าง่ายแปลว่าเราน่าจะทำได้ ถ้ายากแปลว่าไม่อยากเรียน ก็ทิ้งตัวเลือกนี้ไปหาสิ่งอื่นที่โดนใจกว่า

ส่วนเรื่องเรียนกู่เจิงก่อนค่อยมาเรียนกู่ฉินเป็นความเข้าใจผิดครับ ถึงแม้เครื่องจะวางนอนเหมือนกัน แต่การบรรเลงก็เป็นอีกรูปแบบเลย เราไม่สามารถเอาเทคนิคกู่เจิงมาใช้ในกู่ฉินได้ และเราก็ไม่สามารถเอาเทคนิคกู่ฉินไปเล่นบนกู่เจิง (อาจได้กับเทคนิคพืเนฐานมากๆไม่กี่ตัว) หรือบางคนบอกว่าเนื่องจากกู่ฉินยากมาก จำเป็นต้องมีพื้นฐานดนตรีอื่นๆ ไม่จำเป็นเลยครับ นักเรียนของผมหลายคนก็ไม่เคยเล่นอะไรมาก่อน ตอนนี้เล่นเป็นเพลงกันหลายคนแล้ว

แล้วถ้าใครยังสงสัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนกู่ฉินเพิ่มเติม สามารถส่งข้อความหรือโพสต์หน้าวอลล์ได้เลยครับ ยินดีตอบทุกคำถามครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น