วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

วัฒนธรรม=การศึกษา



ชาวจีน เป็นชนชาติที่มีค่านิยมว่า "วัฒนธรรม(จีน)" เกิดจากการได้รับ "การศึกษา(จีน)" กล่าวได้ว่า วัฒนธรม=การศึกษา การศึกษา=วัฒนธรรม ถึงขนาดว่าเป็นวงกลมซ้อนกันเลยทีเดียว

แต่แน่นอน ชาวจีนจะรู้สึกว่าคำว่า "วัฒนธรรม" ฟังดูสูงส่งและหรูหรากว่า ดังนั้นชาวจีนจึงใช้คำว่า วัฒนธรรม(文化)เป็นหน่วยในการประเมิณการศึกษาที่คนคนนั้นได้รับ เช่น ท่านท่านนี้ศึกษากวีและปรัชญามามาก เห็นทีจะได้รับการบ่มเพาะวัฒนธรรมมาเป็นอย่างดี หรือ เจ้าคนนี้พูดจาหยาบกระด้างนัก ช่างไม่มีวัฒนธรรมเอาเสียเลย ซึ่งก็แปลตรงๆได้ว่า "ไร้การศึกษานั่นเอง" และนี่เป็นเงื่อนไขทางสังคมที่ ส่งผลให้เกิดการแบ่งชนชั้นด้วยระบบการศึกษาที่ไม่ทั่วถึงซึ่งมีมาแต่โบราณ ปัจจุบันนี้ถึงแม้ทุกคนจะเท่าเทียมกัน ได้เรียนสูงเท่ากัน ลึกๆแล้วชาวจีนยังยกย่องคนเรียนสายจีนศึกษามากกว่า เพราะถือว่ามีวัฒนธรรมสูงส่ง (แต่ในเวลาเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็สร้างยานอวกาศไม่ได้ ฮี่ๆ)

นอกจากการเปรียบเทียบกันเองในประเทศแล้ว ชาวต่างชาติก็เป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งเช่นกัน (แน่นอนว่าจีนชนะ เพราะเอาวัฒนธรรมจีนเป็นเกณฑ์) มีตำราโบราณพูดถึงข้อห้ามในการเรียนกู่ฉินข้อหนึ่งกล่าวว่า "ห้ามมิให้ผู้ที่สำเนียงวาจาไม่เป็นไปตามครรลองเล่นกู่ฉิน" (ครรลองที่ว่าก็คือมาตราฐานภาษาจีนในยุคนั้นนั่นเอง) เพราะชาวจีนเข้าใจว่า ชาวต่างชาติที่ไม่รู้วัฒนธรรมตนเองลึกซึ้ง จะไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจดนตรีแห่งปราชญ์ชั้นสูงได้ ถ้าอยากเรียนก็ต้องมาเป็นพวกเราก่อน แต่แน่นอน ชนชั้นที่มีความมั่นใจสูงในตนเองเช่นจีนไม่ยอมให้ชนชาติอื่นที่ไร้อารยธรรมมาศึกษาแน่นอน หรือศึกษาแล้วชาวจีนจะบอกว่า "ไหนเลยจะสู้เจ้าของ" และการใช้วัฒนธรรมแบ่งชั้นและกีดกันผู้คน ก็คือการสะท้อนแนวคิด "ของดี มีไว้ให้เราใช้" นั่นเอง

คนจีนทั้งประเทศคิดแบบนี้รึเปล่า
ส่วนมากเป็นชนชั้นที่ได้รับการศึกษาชั้นสูง ที่เรียกตนเองว่า ปัญญาชนหรือวิญญูชน คนกลุ่มนี้จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะรักษาสถานะของตนเองให้สูงส่งอยู่เสมอ ด้วยการโยงศิลปะที่พวกเค้าชอบกับการศึกษาระดับปรัชญา เช่น กู่ฉิน พู่กันจีน วาดภาพ หมากล้อม เป็นต้น เมื่อยกให้สูง ชนชั้นล่างก็ไม่เล่น ทำให้ดูบริสุทธิ์ผุดผ่อง มันจึงเป็นการผูกขาดวัฒนธรรมและยกระดับศิลปะได้เป็นอย่างดี (และเป็นสิ่งที่ทำให้กู่ฉินเกือบสาบสูญด้วย)

ปัจจุบันนี้ระบบปัญญาชนวิญญูชนในจีนเริ่มเสื่อมถอยลง (ถึงกระนั้นก็ยังมีคนพยายามรักษาสุดชีวิต) ทุกคนเท่าเทียมกันมากขึ้น ใครก็ศึกษาศิลปะวัฒนธรรมได้ เพราะจริงๆแล้วศิลปะวัฒนธรรม(รวมไปถึงทึกอย่างในจักรวาล) คือสิ่งที่ไร้คำว่าสูงต่ำและเป็นอมตะในตัวมันเอง คนต่างหากที่พยายามไปแบ่งมัน ดังนั้นไม่ว่าจะเรียนศิลปะวัฒนธรรมอะไรก็ตาม เราเคารพของเค้าก่อน เมื่อนั้นของเราก็จะมีคุณค่ายิ่งขึ้นไปอีก และความใจกว้างเท่านั้น ศึกษาและเปิดรับศาสตร์อื่นๆ ไม่มีเค้า ไม่มีเรา ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาไปได้อย่างไร้จุดสิ้นสุดครับ ขอฝากไว้สำหรับน้องๆรุ่นใหม่ที่สนใจวัฒนธรรมจีนด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น