วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การเล่นกู่ฉินทำให้จิตใจสงบ


เราอาจเคยได้ยินว่า "การเล่นกู่ฉินทำให้จิตใจสงบได้" ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าอยู่ๆจะมาเล่นแล้วจะสงบเลย (แนวคิดนี้ยังทำให้เกิดกระแสเล่นกู่ฉินแล้วจะเป็นปราชญ์ในบัดดลเช่นกัน) จากบทความซีซานฉินควั่ง(溪山琴况) หมวดความนิ่ง(静) จากตำราเทียนเหวนเก๋อฉินผู่(天闻阁琴谱) สมัยราชวงศ์หมิง กล่าวไว้ว่า

"อันความนิ่งนั้นเกิดจากภายใน เสียงดนตรีทั้งหลายล้วนเกิดจากจิตใจ หากจิตใจสับสน นิ้วมือก็ดีดออกมาเป็นเสียงที่ไม่สะอาด ดีดกู่ฉินในสภาวะแบบนี้จะหาความนิ่งได้อย่างไร"
จากประโยคข้างต้นคนโบราณก็ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า การที่กู่ฉินจะสร้างความนิ่งได้นั้น ผู้เล่นต้องมีสภาวะจิตใจที่สงบนิ่งเป็นทุนเสียก่อน แล้วจึงอาศัยเสียงดนตรีที่เกิดจากความนิ่งของตนเองนั่นแหล่ะ ย้อนกลับมาเพิ่มความนิ่งให้ตนเองอีกชั้น ในทางตรงกันข้าม หากใจไม่นิ่งแล้วมาดีดกู่ฉิน เสียงที่ได้ก็คือเสียงแห่งความสับสนวุ่นวายนั่นเอง ฉนั้นแล้วประโยคที่ว่า "การเล่นกู่ฉินทำให้จิตใจสงบได้" นั้น หากไม่ชี้แจงให้ชัดเจนแล้ว เกรงว่ามันจะเป็นเพียงโฆษณาชนเชื่ออย่างหนึ่งเท่านั้น




วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

พัดผักรวมมิตรแนวคิดเรื่องการศึกษาเส้อ(瑟)และอื่นๆนิดหน่อย

ใครอ่านจบ ขอปรบมือ

ช่วงนี้ผมและนักเรียนได้สั่งทำเส้อ(瑟)จำนวน 5ตัว (จากสุสานเจ้าแคว้นเจิง2ตัว(ตัวสีแดงๆ) และจากสุสานอื่นๆคละกันอีก3ตัว) โดยสั่งทำที่โรงงานใต้สังกัดพิพิธพัณฑ์ในเมืองจีน เพื่อให้ได้ของที่ไกล้เคียงของจริงที่สุด เพื่อนำมาใช้ในการศึกษาและทำวงดนตรียุคก่อนราชวงศ์ฉินกันเล่นๆ(ถ้าดีก็อาจมีมินิคอนเสิร์ช) 

เส้อเป็นเครื่องดนตรีโบราณมากๆ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของกู่เจิง มีอายุกว่า 4000 ปี พอๆกับกู่ฉิน บันทึกเกี่ยวกับเส้อที่เก่าแก่ที่สุด ปรากฎในตำรา "ซือจิง"(诗经)หลายๆครั้ง เช่น 窈窕淑女,琴瑟友之 น้องนางงามทั้งใจและกาย จึงดีดฉินดีดเส้อไกล้ชิดกัน และ 我有嘉宾,鼓瑟吹笙 เรามีแขกVIP ดีดเส้อเป่าแคน(ต้อนรับ) เป็นต้น ซึ่งเครื่องดนตรีทั้งหมดที่ปรากฎ เป็นเครื่องดนตรีสำคัญในดนตรีพิธี(礼乐)ไม่ว่าจะเป็น กู่ฉิน เส้อหรือว่าแคน (ในดนตรีพิธี แคนจะบรรเลงนำวง เครื่องอื่นๆถึงจะเริ่มบรรเลงตามได้ เพราะจากรูปร่างของแคนที่มีฐานเหมือนพื้นดิน และมีเลาไผ่เหมือนการงอกงามของพืชพันธุ์ ทำให้แคนเป็นสัญลักษณ์แทน"ชีวิต") จะเห็นได้ว่าเส้อนอกจากใช้ในพิธีการแล้ว ยังเป็นเครื่องดนตรีเพื่อความบันเทิงของชนชั้นสูงอีกด้วย แต่ได้สาบสูญไปราวราชวงศ์ถัง และปรากฎอีกครั้งในราชวงศ์ชิง

ซึ่งในการจำลองเส้อนั้น นายช่างได้มีการปรับเปลี่ยนความสูงของสายและหย่อง รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆเล็กน้อย เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า ดังกว่า ซึ่งการแสดงในพิพิธพัณฑ์ต่างๆทั่วจีน ก็ใช้แบบที่ปรับแต่งแล้วทั้งสิ้น แรกเริ่มตัวผมเข้าใจว่า "ดี"ในความหมายของช่าง อาจเป็นรสนิยมคนสมัยใหม่ โดยเอากู่เจิงเป็นเกณฑ์ ซึ่งทีมของเราไม่ยินดีนัก ยังไงก็อยากได้แบบที่เหมือนหยิบออกมาจากสุสานเลยเป๊ะๆเลย จึงสั่งช่างทำใหม่ทั้งหมด โดยที่ห้ามปรับแต่งใดๆทั้งสิ้น โดยแบบโบราณจะมีสายที่เตี้ยและหย่องที่เล็ก (ดูรูปประกอบ) ส่งผลให้เสียงของเส้อเบา ไม่แน่นและไม่กังวาน เนื่องจากแรงตึงของสายไม่พอที่จะสร้างการสั่นสะเทือนที่เหมาะสม เพราะอะไรที่ทำให้เราตัดสินใจแบบนั้น หัวโบราณรึเปล่า? นั่นเพราะว่าจากสุสานสมัยจ้านกว๋อทั่วประเทศจีน เส้อที่ถูกขุดพบร้อยกว่าตัว มีลักษณะเดียวกันหมด นั่นคือหย่องเล็กและสายเตี้ย ดังนั้นมันอาจเป็นไปได้สูงว่า นี่คือความเพราะของเส้อในยุคนั้น ซึ่งถ้าเราจะศึกษาหน้าที่และบริบทของเส้อแล้ว เราควรศึกษาจากลิมิตของมัน จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ไกล้เคียงความถูกต้องที่สุด และจากตำราซือจิงที่เขียนว่า “น้องนางงามทั้งใจและกาย จึงดีดฉินดีดเส้อไกล้ชิดกัน” นั่นเสดงว่าเส้อเสียงเบากำลังพอดีที่จะบรรเลงกับกู่ฉินที่เสียงโคตรเบา นอกจากนี้แล้วในพิธีการยิงธนูของชนชั้นสูงสมัยจ้านกว๋อ จะมีมโหรีบรรเลงคลอไปด้วย โดยระฆังและกลองจะถูกจัดไกลๆแท่นพิธี และให้เส้ออยู่ไกล้ผู้ร่วมงานมากที่สุด นี่ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า เส้อเสียงเบาน่ะ ถูกแล้ว




(ในสมัยราชวงศ์โจว (3070 ปีที่แล้ว) เกิด "ดนตรีพิธี(礼乐)" ขึ้น โดยจะมีกำหนดไว้ว่า อ๋อง เจ้าแคว้นหรือเจ้าเมืองเล็กๆต่างๆ สามารถใช้ดนตรีประเภทใดในการแสดงฐานะของตน ซึ่งจะมีการกำหนดจำนวนนักดนตรีและเครื่องดนตรีเอาไว้อย่างชัดเจน 

จากการผสมคำ "ดนตรี" และ "พิธี" แสดงให้เห็นถึงว่าดนตรีนั้นเท่าสำคัญเท่ากับพิธี และพิธีก็สำคัญเท่ากับดนตรี แต่แท้จริงแล้ว "ดนตรีพิธี" เป็นเครื่องมือที่ชั้นปกครองใช้ในการควบคุมคนทางอ้อมเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลนั่นเอง และแน่นอนว่าชาวบ้านมีฐานะต่ำสุด และนอกจากนี้ดนตรีพิธียังถูกยกย่องว่าเป็นดนตรีแห่งจริยธรรม 德 (เพื่อประชาสัมพันธ์ว่าสิ่งนี้ที่เป็นระบบแบบแผนเท่านั้น ที่ทำให้ใต้หล้าสันติ) จึงส่งผลให้ในสมัยนั้นดนตรีพื้นบ้านทั่วไป ซึ่งไม่มีพิธี (ไม่มีพิธีคือไร้จริยธรรม) มีฐานะตกต่ำอย่างที่สุด) 

แต่แล้วก็มีความคิดปิ๊งขึ้นมาในหัว ถ้าเส้อเป็นเครื่องดนตรีในวงดนตรีพิธี ก็แปลว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการแผ่ขยายอำนาจากศูนย์กลาง โดยใช้ดนตรีในการแบ่งชนชั้น ดังนั้นเป็นไปได้สูงว่า เส้อซึ่งถูกออกแบบโดยศูนย์กลางอำนาจในยุคนั้น อาจจะยังไม่พัฒนานัก(อาจจะพัฒนาที่สุดแล้ว) แต่ถูกส่งออกไปรอบๆพร้อมแนวคิดระบบศักดินา ดังนั้นเส้อ(ที่ยังไม่พัฒนา) พี่แผ่ไปพร้อมการปกครองร้อยกว่าตัวนั้น จึงมีโครงสร้างเหมือนกันไปหมด ทีนี้มาดูเส้อในพระราชวังต้องห้ามสมัยราชวงศ์ชิง ก็มีหย่องและสายที่สูงมาก (กู่เจิงก็พัฒนาจากสายเตี้ยมาสูงเช่นกัน) ดังนั้นตอนนี้ความคิดที่ว่าต้องเอาตามของโบราณทั้งหมดนั้น อาจจะต้องปรับเปลี่ยนบ้างเสียแล้ว สรุปก็คือว่า เราพบกันครึ่งทางกับช่าง “ขอให้สายต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้โดย (ห้ามสูงแบบสมัยใหม่) ภายใต้เงื่อนไขการบรรเลงจริง (ต่ำแบบโบราณไม่ได้แล้ว) ที่ทำให้เส้อแสดงน้ำเสียงของมันออกมาได้ดีที่สุด แต่ยังต้องรักษาเนื้อเสียงที่แท้จริงของเส้อไว้(ห้ามเหมือนกู่เจิง)” 

ธันวานี้ ได้เห็นกันแน่ครับ

ภาพประกอบ เส้อจากสุสานสมัยฮั่น(马王堆)ทั้งสายและหย่องอยู่แบบนี้มาสองพันกว่าปีแล้ว

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กู่ฉินและขงจื้อ




ในภาพเป็น "ฉิน" ที่ถูกขุดพบในสุสานเจ้าแคว้นเจิง ชื่ออี่(曾侯乙)ในสมัยจ้านกว๋อ อายุ 2,400 กว่าปี มีความยาวประมาณ 67 ซม. ไม่มี"ฮุย" (หรือจุดขาวๆบนกู่ฉิน) บนตัวเครื่องไม่มีสายหลงเหลือให้เห็น มีรูใส่สายทั้งหมด 10 รู แปลว่ามี10สาย ทำให้ได้ชื่อว่า 十弦琴 หรือ "ฉินสิบสาย" อีกทั้งโครงสร้างก็แปลกมาก โดยส่วนที่เป็นกล่องเสียงนั้นจะสั้นๆป้อม แล้วส่วนท้ายก็จะมีหางยื่นออกไป ใต้หางจะมีเดือยไว้ผู้ปลายสาย ส่วนกล่องเสียงเป็นไม้สองแผ่นที่ไม่ได้ติดกาวเอาไว้ถาวร เพราะมีลูกบิดตั้งเสียงอยู่ในตัว แปลว่ามันต้องสามารถแยกออกจากกันได้ทันทีเพื่อสะดวกในการปรับเสียง และผิวหน้าของตัวเครื่องที่ไม่เรียบเท่ากัน ทำให้เครื่องดนตรีชิ้นนี้ไม่สามารถบรรเลงแบบรูดสายได้ นั่นแปลว่าจะใช้แต่มือขวาดีดสายเปล่าเป็นหลัก (การดีดฮาร์โมนิคปรากฎในสมัยราชวงศ์จิ้น เมื่อ "ฮุย" เริ่มปรากฎตัวบนเครื่อง) นักวิชาการลงความเห็นว่าจากลวดลายและรูปทรงน่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมมากกว่าเครื่องดนตรีทั่วไป 



ซึ่งในบันทึกกว่าวถึงขงจื้อไว้ว่า ขงจื้อก็เล่นกู่ฉินเหมือนกัน โดยใช้กู่ฉินในการสอนลูกศิษย์ในการจดจำท่วงทำนองของกวีเป็นหลัก เป็นเครื่องช่วยในการขับร้อง เรื่องนี้ค่อนข้างสมเหตุสมผล แต่ยังมีบันทึกว่าขงจื้อตั้งใจเรียนกู่ฉินเพลงเดียวเป็นเวลานานมาก จนสามารถรับรู้ถึงอารม์เพลง และถึงขนาดรู้ว่า “โจวเหวินอ๋อง” เป็นผู้แต่งเพลงอีกด้วย แต่เพราะตัวเครื่องดนตรีที่ไม่สามารถรูดสาย ซึ่งเป็นเทคนิคสำคัญที่ใช้สื่ออารมณ์ได้ จึงทำให้กู่ฉินยุคขงจื้อนั้น แทบไม่สามารถแสดงออกทางอารมณ์และความคิดได้เลย ฉนั้นการที่ขงจื้อฟังออกว่าเพลงอารมณ์อย่างไร ใครเป็นผู้แต่งนั้น จึงไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไรนัก (เว้นแต่ว่าสมัยนั้นมีเพลงไม่มาก ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน) ดังนั้นนิทานที่ขงจื้อเรียนกู่ฉินนั้น น่าจะเป็นคนยุคหลังแต่งเติมเพื่อเพิ่มความสูงส่งน่าเคารพให้กับขงจื้อมากกว่า

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แบบเรียนรุ่นใหม่



ทุกวันนี้กู่ฉินเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ส่งผลให้อาจารย์หลายท่าน เขียนตำรากู่ฉินตีพิมพ์ออกสู่ท้องตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยช่วงหลังๆ3-4ปีนี้ จะมีหนังสือกู่ฉินออกใหม่มากเป็นพิเศษ (ข้าน้อยกวาดมาทุกเล่มแล้ว) ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบตำราที่รวบรวมโน้ตโดยเฉพาะ (琴谱)หรือตำราที่สอนการบรรเลงพื้นฐาน (教材)และทันสมัยที่สุดก็คงหนีไม่พ้นตำราที่แถมแผ่น VCD หรือ DVD ที่มีเนื้อหาสอดต้องกับตำราเรียนมาด้วย เพื่อผู้เรียนจะได้เรียนรู้ท่าทางการบรรเลงได้อย่างถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น



ซึ่งแบบเรียนจำพวกนี้ เหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเวลาน้อย หรือไม่สะดวกไปพบอาจารย์ผู้สอน แต่ถ้ามีความพร้อม แน่นอนว่าการเรียนกับครูผู้เชี่ยวชาญ เป็นตัวเลือกที่ที่สุดครับ เพราะVCDไม่สามารถบอกเราได้ว่า เรามีข้อดีตรงไหนที่ต้องพัฒนาขึ้นไปอีก และไม่สามารถบอกได้ว่าเรามีข้อเสียตรงไหนที่ต้องแก้ไขด่วน ซึ่งถ้าจำผิดแล้วก็ม๊โอกาศผิดไปตลอดชีวิต ซึ่งไม่ดีต่อผู้เรียนแน่นอน

และที่สำคัญไปกว่านั้นกู่ฉินเป็นดนตรีทีมีรายละเอียดทั้งทางเทคนิคและอารมณ์เยอะมาก ซึ่งต้องเป็นครูที่มีประสบการณ์สูงเท่านั้นที่จะอธิบายให้ผู้เรียนกระจ่าง และมีพัฒนาการที่มั่นคงต่อไปได้

ภาพประกอบ  แบบเรียนกู่ฉิน 琴学门径 ของ อ. จางจื่อเซิ่ง(张子盛)ที่CDแถมใฟ้ 2 แผ่น

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความลับ


ภาพนี้เป็นชุดที่อาจารย์หวังเผิง ใช้ในการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการทำกู่ฉินตามสถานที่ต่าง 




กลางภาพจะเห็นว่ามีไม้ชิ้นหนึ่งที่ถูกขึ้นรูปเป็นกู่ฉิน มีการเซาะขอบอย่างเรียบร้อย แต่มีการขุดเนื้อไม้ที่ออกส่วนท้ายไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม้ท่อนนี้คือส่วนบนของกู่ฉิน ซึ่งอาจารย์หวังเผิง (รวมทั้งช่างท่านอื่นๆ) ค่อนข้างระมัดระวังมากที่จะรักษาความลับเรื่องของโครงสร้างภายใน เพราะมันคือความลับที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของช่างทำกู่ฉินเลยทีเดียว 

และรูปทรงที่แตกต่างของกู่ฉินซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเดินทางของคลื่นเสียง ทำให้การจัดการโครงสร้างภายในมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม ดังนั้นการทำกู่ฉินจึงไม่สามารถทำโครงสร้างภายในให้เหมือนกันทั้งหมดได้ และการที่จะทำกู่ฉินตัวหนึ่งให้ได้ดีนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความรู้และชั่วโมงบินของช่างล้วนๆ 

อาจารย์หวังเผิงเคยกล่าวกับผมไว้ว่า "ถ้าทำกู่ฉินไม่ถึงร้อยตัว อย่าหวังที่จะทำฉินออกมาได้ดีดั่งใจ" ประโยคนี้เห็นจะไม่ได้เป็นการพูดเกินจริงเลยแม้แต่น้อย

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วัสดุที่ใช้ในการเคลือบกู่ฉิน




ประปุกใหญ่แรกทางขวา ที่เห็นเป็นสีเหมือนโอเลี้งใส่นมข้นนั้น คือรักจีน วัสดุหลักที่ใช้ในการเคลือบ ซึ่งตอนที่ถูกกรีดจากต้นออกมาใหม่ๆจะเป็นสีขาวขุ่น ทิ้งไว้ซักพักจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนและเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นสีดำเมื่อแห้งสนิท นั่นทำให้เราเป็นโทนสีกู่ฉินส่วนใหญ่เป็นสีดำนั่นเอง

ประปุกกลางเป็นผงเขากวางที่พูดบดอย่างละเอียดแล้ว เอาไว้ผสมกับรัก เพื่อไม่ให้รักจับตัวกันแน่นจนเกินไป ซึ่งจะทำให้เสียงกู่ฉินโปร่งขึ้น แท่งขาวๆสามสี่แท่งตรงกลางภาพก็คือเขากวางก่อนบดนั่นเอง ซึ่งกว่าจะเอามาใช้งานได้ ต้องการกรรมวิธีหลายขั้นตอนมาก ซึ่งก็แล้วแต่เทคนิคของช่างแต่ละคน

ส่วนกระปุกสุดท้ายทางซ้าย คือหินชาดสีแดง ก่อนใช้ช่างจะนำมาบดให้ละเอียดเพื่อผสมกับรัก รักที่ได้ก็จะออกไปโทนแดง ซึ่งส่วนมากนิยมใช้ในงานซ่อมแซมเท่านั้น (ไม่นิยมเคลือบกู่ฉินใหม่ เพราะจะทำให้เสียงอับ) เช่น กู่ฉินอาจไปกะเทาะจนชั้นเคลือบบางแห่งแตกร่อน หรือเกิดการแตกลายงามตามธรรมชาติที่ทำให้เป็นอุปสรรค์ต่อการบรรเลง ช่างก็จะใช้ส่วนผสมนี้มาปะรอยเหล่านั้น นั่นเพราะว่าส่วนที่ต้องการซ่อม จำเป็นต้องได้ส่วนผสมที่มีความหนาแน่นมากกว่า หินชาดจะทำหน้าที่ให้ส่วนที่ปะซ่อมแซมนั้นติดแน่นทนนานยิ่งขึ้น และนี่เองคือสิ่งที่ทำให้กู่ฉินโบราณมีสีแดงกระจายเป็นหย่อมๆ (กู่ฉินสมัยใหม่ผสมสีเพื่อเลียนแบบ)

ส่วนประปุกเล็กที่ไม่ได้พูดถึงนั้น เป็นเปลือกหอยมุกที่จะใช้ทำ "ฮุย" หรือจุดแสดงตำแหน่งบนกู่ฉินครับ

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

"ทางสายกลาง" หนึ่งในปรัชญาของนักดนตรีกู่ฉิน


เวลาเราฟังกู่ฉินเพลงต่างๆ เราจะได้ยินเสียงเบาบ้างดังบ้าง ตามแต่อารมณ์ของผู้บรรเลงอยาก แต่ตัวกู่ฉินนั้น จะมีลิมิตความดังของมัน คือไม่ว่าเราจะออกแรงบรรเลงเกินลิมิตความดังของของมันแค่ไหน เสียงก็จะไม่มีทางดังไปกว่านี้ได้ และก็ลิมิตความเบา  ซึ่งถ้าออกแรงน้อยจนเกินไปเสียงก็อาจจะไม่เกิดเลย



สำหรับนักกู่ฉิน นักดนตรีจะต้องค้นหา "ทางสายกลางของเสียง" ให้เจอเสียก่อน นั่นหมายถึงระดับเสียงความดังปานกลางของเครื่อง (ซึ่งอาจเบามากหากเทียบกับเครื่องดนตรีอื่นๆ) นั่นหมายความว่านักดนตรีอาจจะต้องศึกษาการบรรเลงนานพอสมควร เพื่อจะทำความสนิทสนมกับกู่ฉินของตนเองให้มากที่สุด เพราะกู่ฉินแต่ละตัวมีจุดโปร่งและจุดบอดต่างกันนั่นเอง

และเมื่อได้ "ทางสายกลางของเสียง" แล้ว นักดนตรีกู่ฉิน จะหลีกเลี่ยงลิมิตความดังของสองจุดให้มากที่สุด นั่นคือไม่ให้ดังเกินไปและไม่ให้เบาเกินไป หรือกล่าวได้ว่า บรรเลงให้ดังและเบากว่า  "ทางสายกลางของเสียง" พอสมควรเท่านั้น นั่นก็เพราะว่ากู่ฉินเป็นดนตรีสมาธิ ใช้บรรเลงในการพัฒนาจิตใจ ตัวตนเราอาจจะขาดบ้างเกินบ้าง แต่การฝึกฝนตรงนี้กับกู่ฉิน พอเวลาผ่านไป "ทางสายกลางของเสียง" จะกลายมาเป็น "ทางสายกลางของชีวติ" ของผู้ศึกษาโดยไม่รู้ตัว

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

กู่ฉินแบบบโบราณ


กู่ฉิน ทรงก่อนราชวงศ์ฮั่น ที่ถูกใช้ภาพยนตร์เรื่อง Hero ในปี2002 และละครสามก๊กปี 1994 จะมีผิวหน้าที่ไม่เรียบสนิท ฉนั้นกู่ฉินยุคแรกๆจะบรรเลงด้วยสายเปล่าเป็นหลักและฮาร์โมนิค และอาจจะมีการกดสายบ้างแต่น้อยมาก 





โครงสร้างของมันส่วนที่ป้อมๆ เป็นกล่องเสียงที่ถูกขุดเข้าไปในเนื้อไม้ ส่วนที่ค่อนไปทางหางเป็นไม้ตัน ซึ่งไม้แผ่นบนแผ่นล่างของเจ้าตัวนี้ สามารถแยกออกจากกันได้ ไม่ได้ปิดตายแบบปัจจุบัน ดังนั้นไม้แผ่นล
่างจะมารองรับแต่ตรงกล่องเสียงเท่านั้น เพราะเนื่องจากลูกบิดตั้งสายอยู่ภายในค่อนไปทางหัว จึงต้องเปิดปิดปรับสายอยู่เสมอ ต่อมาเนื่องจากเพื่อให้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้น จึงมีการนำไม้แผ่นล่างมาปิดชั่วคราวเวลาบรรเลง (พิณแนวนอนของจีน จำพวก กู๋ฉิน เส้อและกู๋ฉิน ในยุคแรกๆจะเป็นไม้กระดานแผ่นเดียว บ้างก็เป็นกล่อง แต่ไม่มีฝาล่างปิด)

จากรูปเป็นแบบจำลอง ที่ทำเลียนแบบกู่ฉินที่ขุดเขอจากสุสานสมัยจ้านกว๋อ อายุ2000กว่าปี

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

อะไรทำให้กู่ฉิน เป็นดนตรีแห่งการบ่มเพาะ




ตอบ

ศิลปะทุกแขนง มีอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตผลงาน ดนตรีก็เช่นกัน แต่สำหรับกู่ฉินแล้ว ผู้บรรเลงต้องสังเกตุการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของอารมณ์ต่างๆ ที่ตนเองแสดงออกมาผ่านเสียงดนตรี ซึ่งจุดนี้จะทำหน้าที่เหมือนกระจกสะท้อนตัวตนของผู้เล่น แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อสรุปอย่างเป็นเหตุเป็นผลอีกชั้น (ซึ่งช่องว่างมากๆระหว่างตัวโน้ตในกู่ฉิน ก็คือปล่อยให้มีโอกาศคิดนั่นเอง) ถึงจุดนี้ผู้เล่นก็จะรู้ว่าตนเองมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ควรจะปรับปรุงและพัฒนาส่วนไหนบ้าง ดังนั้นกู่ฉินจึงจำเป็นต้องบรรเลงเดี่ยวให้ตัวเองฟังเพียงคนเดียว ถึงจะมีสติและเกิดปัญญาได้ดีที่สุด นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่กู่ฉินไม่นิยมบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีอื่น (อีกหหนึ่งสาเหตุคือเสียงเบาเกินไป)

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555


ละครฟอร์มยักษ์ สามก๊ก รุ่นเก่า ที่ได้สร้างตำนานให้กับวงการภาพยตร์ไว้อย่างยิ่งใหญ่ จะมีตัวละครเด่นๆที่บรรเลงกู่ฉินได้อย่างลึกซึ้ง ได้แก่ ขงเบ้ง และจิวยี่ ทำไมในนิยายต้องให้สองคนนี้เล่นกู่ฉิน ทั้งๆในจดหมายเหตุสามก๊กหรือตำราซานกว๋อจื้อ(三国志)กลับไม่มีบันทึกไว้ นั่นเพราะว่ากู่ฉินเป็นพร็อปสำคัญ ที่เป็นเครื่องมือแสดงว่าคนนั้นคือคนที่ฉลาดกว่าคนอื่นๆ และการที่สองคนนี้เล่นได้ทั้งคู่ด้วย ก็เป็นการแสดงออกว่ามีสติปัญญาที่สูสีกันมากๆนั่นเอง (การฟังความคิดของขงเบ้งออก ผ่านเสียงกู่ฉินในกลเมืองว่างของสุมาอี้ก็เช่นเดียวกัน) 


แนวคิดนี้เริ่มก่อตัวราวๆสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ซึ่งปัญญาชนเริ่มเข้ามาวุ่นวายกับศิลปะ อาทิ ภาพวาด การเขียนอักษร เป็นต้น ทำให้เกิดเงื่อนไขว่า การจะเรียนสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการศึกษาชั้นสูงเสียก่อน (เรียนหนังสือมากก็ฉลาดมาก) ซึ่งกู่ฉินเป็นตัวสะท้อนจุดนี้โดยตรง แน่นอนว่าสมัยก่อนคนได้เรียนหนังสือมีไม่เยอะ เลยดูเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก แต่ทุกวันนี้ทุกคนได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน คนจีนก็ไม่ได้วันๆเอาแต่ท่องตำราสอบจองหงวนแล้ว เพราะทุกคนก็ต้องเรียนศาสตร์สากลต่างๆเพื่อก้าวไปพร้อมๆกับโลกสมัยใหม่ ทำให้จากกู่ฉินเลือกคนในสมัยก่อน กลายเป็นคนเลือกกู่ฉินไปเสียแล้ว ฉนั้นตามหลักเหตุผลแล้วมันจึงควรจะเป็นดนตรีของใครก็ได้ที่รักและสนใจด้านนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นปราชญ์หรือปัญญาชนเสมอไป แต่โดยลึกๆแล้วชาวจีนหรือคนทั่วไปที่เน้นไปด้านจีนศึกษา) ยังคงรู้สึกว่ากู่ฉินเป็นดนตรีชั้นสูงอยู่ดี ดังนั้นคนที่เล่นกู่ฉินในวันนี้ ก็ยังจะถูกมองว่าเป็นบุคคลที่ล้ำลึกอยู่ แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อหลายร้อยปีก่อนเลย

ปล ภาพจิวยี่วางกู่ฉินกลับหัว

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

กว่างหลิงส่านและกระบี่เย้ยยุทธจักร


เพลงกว่างหลิง หรือกว่างหลิงส่าน 广陵散 เป็นเพลงโบราณที่แต่งในสมัยจ้านกว๋อ บรรยายถึง การล้างแค้นของแทนพ่อของเนี่ยเจิ้ง ที่ถูกท่อานอ๋องแห่งแคว้นหานฆ่าเพราะทำงานล่าช้า เนี่ยเจิ้งหายเข้าป่าไปเป็นสิบปี เพื่อนเรียนกู่ฉินเก่ง แล้วได้มีโอกาศเข้าไปเล่นในวัง ขณะที่ท่านอ๋องกำลังเคลิ้ม ก็ชัดมีดที่ซ้อนในกู่ฉินออกมาสังหารท่านอ๋อง หลังจากนั้นก็ฆ่าตัวตายตาม



จีนคัง (嵇康)ในสมัยราชวงศ์จิ้น นักต่าต้านการเมืองอิสระก็ชื่ม
ชอบเพลงนี้มาก แต่เนื่องจากมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับฝ่ายรัฐบาล จึงถูกสั่งหาร ก่อนตายเค้าเล่นเพลงนี้แล้วบอกว่า "กว่างหลิงส่านนี้ จะสาปสูญไปจากโลก" แล้วนิยายเรื่องกระบี่เย้ยยุทธจักรก็กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ด้วย จึงทำให้ยุคหลังคนเข้าใจผิดเพลงนี่สาปสูญไปจริงๆ เปล่าเลย ยังมีคนเล่นมาตลอดเวลาจนถึงทุกวันนี้ ที่จีงคังพูดน่าจะหมายถึงตัวเค้ามากกว่า ว่าปณิธานอันยาวไกลจบลงแล้วเพียงเท่านี้




ทุกวันนี้เพลงกว่างหลิงส่านถือเป็นเพลงที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ที่ถูกบันทึกเป็นโน้ต ซึ่งปรากฎโน้ตที่เก่าแกท่ที่สุดในตำรา เสินฉีมี่ผู่(神奇秘谱)ที่เขียนโดยจูเฉวียน(朱权)โอรสคนที่17ของฮ่องเต้จูหยวนจางในสมัยราชวงศ์หมิง และเนื่องจากความเก่าแก่ของมัน ทำให้โน้ตต่างๆมีความพิศดาลมาก ทำให้ผู้เล่นต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากหลายๆตำรา ถึงจะวิเคราะห์ออกมาได้ อีกทั้งท่วงนำนองก็แปลกประหลาด จับใจความลำบาก จึงทำให้เพลงนี้กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่ยากที่สุดของกู่ฉินไปโดยปริยาย

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

ความกังวานของกู่ฉิน

มีคนถามกันมาเยอะมากเกี่ยวกันเสียงของกู่ฉิน ว่าข้างในมันมีอะไร ที่ทำให้มันมีความก้องกังวานได้ขนาดนั้น



ที่จริงมันไม่มีอะไรเลยครับ จริงๆก็แค่เป็นไม้สองแผ่นมาปิดเป็นกล่อง แล้วมีช่องให้เสียงออกมาเหมือนเครื่องดนตรีอื่นๆ ไม่ว่าจะทำออกมาจากขนาดไหนทรงไหนยังไงเสียงก็กังวานครับ 

สาเหตุหลักคือ กู่ฉินมีรูปทรงค่อนข้างแบน ทำให้ให้คลื่นเสียงสะท้อนกลับไปกลับมาได้เร็ว บวกกับการเลือกใช้ไม้และการเคลือบรักที่มิดชิด
 ทำให้คลื่นเสียงสะท้อนอยู่ข้างในได้นาน นั่นทำให้กู่ฉินมีเสียงที่แน่นและหางเสียงที่ยาวนั่นเอ

แต่ปัญหาไม่ได้จบเพียงเท่านั้น นักกู่ฉินชั้นสูงกล่าวว่า กู่ฉินที่ดีต้องมีเสียงดั่งเคาะโลหะ และไม่ว่าจะกดสาย ณ ตำแหน่งไหนก็ตามจ คุณภาพและสีสันของเสียงของมันต้องเหมือนกัน นั่นคือน้ำเสียงเหมือนกันและมีความแน่นเท่าๆกัน ในที่นี้ยังรวมไปถึงเสียงรูดสายอีกด้วย การเปลี่ยนแปลงของระดับเสียง คลื่นเสียงก็เปลี่ยนไปด้วย ยิ่งเพิ่มความวุ่นวายในการปรับแต่งโครงสร้างภายในเข้าไปอีก

ซึ่งจุดนี้คือโจทย์ของช่างที่ต้องจัดการกับไม้ คือต้องดูลายไม้เป็นแล้วเลือกที่จะขุดให้หนาบางแค่ไหน แล้วยังต้องดูเรื่องการเคลือบ ว่าใช้ส่วนผสมอะไร หนาแค่ไหน เพื่อจะสอดรับกับไม้ที่ทำไว้ข้างต้น เพื่อให้ได้กู่ฉินที่ดีตามคุณสมบัติดังกล่าว ดังนั้นการทำกู่ฉินจึงไม่มีรูปแบบตายตัว เพราะช่างต้องปรับเปลี่ยนไปตามปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมอยู่เสมอนั่นเอง

ทุกวันนี้ในวงการช่างมีคำว่า "กู่ฉินใครก็ทำได้ แต่ทำให้ดีนั่นอีกเรื่อง"

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ความโหดของการขึ้นสายกู่ฉิน (ไหม)


วันก่อนหลายคนคนเห็นผมบ่นไปบ้างแล้ว เกี่ยวกับความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการขึ้นสายกกู่ฉิน วันนี้ผมจะขอนำเสนอรายละเอียดความโหด และปัจจัยนอกเหนือการควมคุมอื่นๆของการขึ้นสายกู่ฉินให้ทุกท่านได้รู้กัน
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสายไหมกันก่อน

สายไหมของกู่ฉิน เกิดจากตัวหนอนไหม กินใบหม่อนออกมาแล้วขับเส้นใยออกมา เหมือนกับไหมบ้านเรานั่นแหล่ะครับ แต่ของจีนจะพิเศษกว่าตรงนี้เค้าไม่ได้ให้ตัวไหมกินใบหม่อนทั่วไป จะมีหม่อนชนิดพิเศษ ที่ตัวไหมกินแล้วจะให้เส้นใยที่เหนียวทนทานมากครับ
เมื่อได้เส้นไหมบางๆแล้ว ก็นำมาฟั่น ขั้นตอนนี้ก็เหมือนกับการทำสายเครื่องดนตรีไทยครับ คือฟั่นเป็นเกลียว กี่มัดกี่มัด ก็ว่าไปตามขนาดของสาย สายกู่ฉินตั้งแต่สมัยโบราณมีสามรุ่นครับ แบบเล็ก กลางและแบบหนา แล้วแต่คนชอบ เส้นเล็กจะเหมาะกับสาวๆ เพราะเล่นสบายมือและเสียงเบาครับ ในทางกลับกันเส้นใหญ่จะเสียงดังและมีแรงด้านนิ้วค่อนข้างสูง แต่กระนั้นก็ตาม ไหมก็นุ่มกว่าสายโลหะที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวันนนี้อยู่ดีครับ
เมื่อฟั่นเสร็จแล้วก็ต้องนำไปต้มยาจีนสูตรลับเฉพาะอีกหลายชั่วโมงเพื่อให้เกลียวที่ฟั่นไว้ประสานกันอย่างเหนียวแน่น หลังจากนั้นรอให้แห้งสนิท เก็บรายละเอียดเล็กน้อยแล้วก็นำไปใช้ได้แล้วครับ
คุณสมบัติของไหมคืออะไร? เด่นๆคือคามยืดหยุ่นนั่นเองและมันจะตึงหย่อนไปตามสภาพอากาศได้ด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุใหญ่ที่นักดนตรีเวทีไม่นิยมสายไหมครับ
มาเข้าสู่ขั้นตอนสายขึ้นสายกันดีกว่าก่อนอื่น ที่ต้นสาย เราต้องมัดเป็นปมสวยงาม ที่มีศัพท์เทคนิคเรียกว่า อิ้งโถว 蝇头 หรือแปลว่าหัวแมลงวัน

หัวแมลงวันเหล่านี้จะรั้งอยู่กับเกลียวด้ายอีกที ซึ่งเกลียวด้านจะทะลุลงไปถึงลูกบิดด้านล่าง ซึ่งทำหน้าที่ปรับละเอียด สายหย่อยไปก็บิดให้เกลียวด้านตึงขึ้น หย่อนไปก็หย่อนเกลียวลง ซึ่งเกลียวนี้ ไม่สามารถจะปรับได้เกินสองเสียง!นั่นหมายความว่าการขึ้นสายครั้งแรก เราต้องการความตึงให้ได้เกือบเทียบเท่าเสียงที่เราตการพอดี
เข้าสู่ความหลอนขั้นต่อไป

เมื่อหัวแมลงวันกับเกลียวด้านที่ยึดอยู่กับลูกบิด พูดจัดตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว เราต้องหาตัวช่วย ซึ่งอาจจะเป็นผ้าขนหนูเล็กๆ หรือว่าท่อนไม้เรียบๆก็ได้ นำปลายสาย มาพันรอบเข้ากับตัวช่วยนั้น ดึงให้แน่น แล้วนำสายพาดผ่านส่วนท้ายของตัวเครื่องดนตรี เมื่อได้ตำแหน่งสายที่ถูกต้องแล้ว ก็เริ่มออกแรงดึงด้วยมือ!เช่น ถ้าสายหนึ่ง ต้องเสียง C ต้องถึงให้ได้ C สูงต่ำกว่านิดหน่อยไม่เป็นไร ลูกบิดช่วยเราปรับละเอียดได้
เมื่อออกแรงดึงและดีดเชคได้เสียงที่ต้องการแล้ว ห้ามผ่อนแรงเด็ดขาด

เพราะเราต้องนำสายที่กำลังถูกดึงด้วยแรงยกดัมเบล มาผูกกับจุดรั้งสาย ที่เรียกว่า 雁足 หรือขาห่านป่า ในขณะที่กำลังรั้งและพันสายให้สุดปลายนั้น อย่าได้ผ่อนแรงเด็ดขาด ผ่อนเมื่อไร สายหย่อน ต้องเริ่มออกแรงดึงใหม่ ขากระสานั้นช่างมำกู่ฉินนิยมทำออกมาสองแบบ แบบกลมและเหลี่ยม แบบเหลี่ยมช่วยในการไม่ให้สายลื่น แต่มุมเหลี่ยนอาจทำลายสายได้ แบบกลมรักษาสายได้ดี แต่โคตรลื่น ไม่ชอบขึ้นสายให้กู่ฉินขากลมเลย เกลียดมาก
เมื่อเราพันสายจนเกลือบสุดปลายแล้วก็ให้นำปลายสาย ไปสอดไว้ใต้สายที่ดึงนั่นแหล่ะครับ ไม่ต้องผูกปมใดๆทั้งสิ้น  ไม่หลุดแน่นอน ไม่งั้นจะแก้ยาก
ทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยให้ครบ 7 สาย และตอนนี้จะพูดถึงความหลอนตัวแม่ในการเล่นกับสายไหม การขึ้นสายนั้น เราต้องเรียงไปจาก 1-7 โดนที่สาย1-4 จะอยู่ขาซ้ายและ5-7จะอยู่ขากวา นั่นหมายความว่าหางของสาย2 ก็จะทับสาย1 หางสาย3ก็จะทับสาย3 ไปเรื่อย ขาอีกข้างก็เช่นกัน และขณะที่หายสายที่ถูกดังด้วยแรงมหาสาร ไปทับสายที่พันไว้แล้ว โอกาศที่จะไปเกี่ยวหางสายแรก ทำให้สายแรกหย่อนมีสูงมาก ดังนั้นการตำแหน่งลงของสายที่จะพันเก็บ โดยให้สายก่อนหน้าเคลื่อนน้อยที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ยากมาก ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ตัวเองล้วนๆ

แต่ระหว่างที่ขึ้นสายนั้น สิ่งที่ห้ามลืมคือ หัวแมลงวัน ควรจะอยู่บนหย่อง หรือเยวี่ยซาน ไม่ควรอยู่ข้างหลังหรือข้างหน้าจนเกินไป นอกจากเป็นเรื่องของความสวยงามแล้ว สายไหมที่ไปอยู่บนเยวี่ยซาน จะทำให้ส่งการสั่นจะเทือนไปถึงช่องเสียงภายในได้ดี ตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดคือ กึ่งกลางของเยวี่ยซาน (กลับไปดูภาพที่สอง สองสายบนคือตัวอย่างที่ดี) เพราะในบางเพลงเราอาจจะต้องหย่อนสายลง ถ้าหย่อนจนสายอยู่นอกเยวี่ยซาน เสียงจะอับ และบางเพลงเราตั้งตึงสายขึ้น เมื่อตึงมากไป มัวแมลงวันอาจตกและเกลียวอาจคืนตัวได้ด้วย
แล้วถ้าทุกอย่างทำไปได้ดี เยวี่ยซานอยู่ตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว มีอะไรอีก ทิ้งไว้คืนนึง สายจะกลับมาหย่อนอีกครั้ง หย่อนจนเกลียดด้ายไม่สามารถช่วยเหลือได้ ต้องขึ้นแบบนี้อีกสองครั้ง!อย่าลืมเรื่องปัจจัยหลายอย่างที่คุมได้ยากด้วย
การขึ้นสายไหมทั้งหมดที่ดีที่สุด ต้องขึ้นอย่างน้อยสามครั้ง เน้นว่า อย่างน้อยเพราะสายไหมใหม่ มักจะยืดตัวได้ระยะหนึ่ ทำให้สายหย่อนลงเยอะพอสมควร
ในกรณีมีบางสายที่ต้องถอดมาแก้เฉพาะกิจ เช่นสายที่หัวแมลงวันไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หรือขาด แต่ถ้าสมมติว่า สาย2มีปัญหา อย่าลือว่ามันถูกหางสายของ3และ4 ทับไว้ ดังนั้น จะแก้สาย2 ต้องรื้อ3และ4ก่อน พอแก้2แล้วจึงตามเก็บขึ้น3และ4อีกครั้ง ซึ่งอย่าลืมเรื่องความเสี่ยงของการที่จะไปเกี่ยวหางสายก่อนหน้าอีก


จากประสบการณ์การขึ้นสายกู่ฉินมาหลายสิบตัว พบว่า เหนื่อยอ่ะ
ดังนั้นนักเรียนที่เล่นสายไหม ถ้าเป็นไปได้ ควรจะรู้วิธีการขึ้นสายด้วยตัวเองด้วย ในกรณีที่ นร ไม่สะดวกมาหาครูทันทีและครูไม่มีเวลาดูให้ เราจะได้ช่วยตัวเองได้ไม่ง้อใคร ที่เมืองจีนมีการคิดค่าขึ้นสายด้วยนะครับ ตอนนี้ นร ยังน้อยครูทำฟรี นร เยอะเมื่อไร หุหุหุ ละนะ
ปล. สำหรับ นร หญิงครูอาจช่วยเป็นกรณีพิเศษ ส่วน นร ที่ถึกขอให้ฝึกไว้ด้วย

รักแท้แลรักเทียม แบบไหนเคลือบกู่ฉินดีที่สุด


จากบทความเก่าๆที่ผมเคยเขียนไปถึงวัสดุที่ใช้เคลือบตัวกู่ฉิน (หวังว่าคงจะไม่มีใครคิดว่าชั้นนอกสุดนั้นเป็นไม้แล้วนะครับ) ถ้ายังพอจำกันได้ ผมเคยบอกว่าวัสดุที่ใช้เคลือบกู่ฉินมี  2 แบบ แบบแรกคือรักแท้ อีกแบบคือรักเทียม
เชื่อว่าหลายคนคงมีข้อข้องใจว่า แบบไหนกันแน่ที่ดีกว่ากัน วันนี้ผมจะมาอธิบายให้ฟังว่า ข้อดีและข้อด้อยของทั้งสองวัสดุ มีอะไรกันบ้าง
จากกู่ฉินที่เป็นวัตถุโบราณที่ตกทอดมาถึงทุกวันนี้ เช่นกู่ฉิน ชื่อจิ่วเซียวหวนเพ่ยอายุ 1200 ปี ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่ารักแท้ สามารถรักษาไม้ให้คงสภาพได้นานนับพันปี  ถึงแม้ว่าจะมีการซ่อมแซมอยู่เกือบทุกราชวงศ์ก็ตาม
 จิ่วเซียวหวนเพ่ย อายุ 1200 ปี
ลูกศิษย์ของผมท่านหนึ่งเคยตั้งข้อสงสัยว่า "เอ้า ก็รักเทียมยังไม่ผ่านกาลเวลาถึงร้อยปีเลย จะรู้ยังไงว่าไม่ทน" ที่จริงไม่ต้องรอถึงร้อยปีครับ สิบปีก็แย่แล้ว ผมมีคนรู้จักซื้อกู่ฉินรักเทียมมา ข่าวล่าสุดคือร้าวแล้วครับ (ยังมีอีกหลายๆตัว) และไม่ใช่รอยร้าวแบบลายงา ที่เป็นเครื่องแสดงอายุของกู่ฉินด้วย แตกปริแบบน่าตกใจเลยทีเดียวครับ
"รักแท้ซ่อมได้ รักเทียมก็ซ่อมบ้างสิ?"
รักเทียม ถ้าสึกหรือบิ่นเป็นพื้นที่เล็กๆ ไม่มีปัญหาครับ แต่ถ้าแตกเป็นเส้นยาวหรือแตกเป็นแผ่นเมื่อไร เตรียมซื้อตัวใหม่ได้เลยครับ! ทำไมถึงซ่อมไม่ได้ เนื่องจากอาการชั้นเคลือบแตกร้าวหรือเผยอขึ้นมา ขั้นแรกต้องใช้กระดาษทรายไฟฟ้าเก็บตรงที่มีปัญหาให้เรียบ ปัญหาคือเมื่อมันเจอการเสียสีหนักๆเข้า ติดไฟเลยครับ อย่าลืมว่าสีเคมีจำพวกนี้มีส่วนผสมของสารไวไฟอยู่ด้วย ไม่เชื่อดม ถ้าโดนขัดแล้วไม้ไม่ไหม้ ก็เข้าสู้ขั้นตอนเอารักเทียมโปะไปตรงที่มีปัญหาซะ แต่เดี๋ยวก่อน เนื่องจากมันไม่ใช่วัสดุธรรมชาติ มันจึงเกาะตัวกันไม่ดี และมีโอกาศร่อนอีกครั้งได้อย่างง่ายดาย
ย้อนกลับไปในเรื่องอายุการรักษาเนื้อวัสดุภายใน หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมรักเทียมจึงอายุสั้นปานนั้น หากอธิบายตามหลักจีนโบราณแล้ว คนจีนเรียกวัสดุธรรชาติทุกชนิดว่า "มีชีวิต" ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนการใส่เสื้อผ้าฝ้ายและใยสังเคราะห์นั่นเอง
อีกตัวอย่างที่เห็นกันชัดๆเลยนั่นคือ การเข้าม้วนภาพพู่กันจีน หรือศัพท์เทคนิคเรียกว่า "จวงเปี่ยว" (装裱)

 พู่กันจีนฝีมือ อ. หลิวฉุนหยาง เพื่อนสนิทของกระผม
ฝีมือการเข้าม้วน โดษ อ. เผิง ศิษย์เอกของปรมาจารย์ระดับประเทศ 
ผู้ดูแลรักษาและซ่อมภาพในวังต้องห้าม ก็เพื่อนสนิมกระผมอีกเช่นกัน


อ. หลิวกล่าวกับผมว่า เดี๋ยวนี้มีการจวงเปี่ยนที่ไวทันใจแล้ว นั่นคือจวงเปี่ยวด้วยเครื่องและกาวเคมี ซึ่งยืนรอรับตรงนั้นได้เลย แต่ของโบราณต้องใช้เวลานานนับสองเดือน ซึ่งต้องค่อยๆกรีดด้วยมืออย่างปราณีต และกาวที่เค้าใช้ ก็คือแป้งเปียกที่สมัยก่อนบ้านเราใช้ติดห่อกล้วยแขกนั่นแหล่ะครับ ความคงทนหล่ะ จวงเปี่ยวเคมี อ. หลิวบอกว่าไม่เคยเจอชิ้นงานที่อยู่ได้เกินสิบปีเช่นกัน อีกทั้งเมื่อม้วนเสีย ภาพก็ถูกทำลายไปพร้อมๆกัน เพราะกาวเคมีได้ทำลายภาพไปตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว แต่ถ้าจวงเปี่ยวด้วยแป้งเปียกแล้ว ในสภาพการรักษาที่ดี สามารถอยู่ได้เป็นพันปี  ถ้าม้วนเสียหาย ช่างสามารถแกะภาพออกมาเข้าม้วนใหม่ โดยที่ชิ้นงานยังสมบูรณ์อยู่ ภาพพู่กันข้างต้น อ.หลิวได้ขยำให้ผมเห็นต่อหน้า สองเดือนต่อมา อ. เผิงเข้าม้วนให้ เรียบเหมือนไม่เคยถูกปู้ยี่ปู้ยำมาก่อน อ. เผิงยืนยันกับผมอย่างถ่อมตัว "ภาพม้วนนี้ อยู่ได้ไม่ต่ำกว่าสามร้อยปี" (ที่จริงในใจชีคงคิดไปถึงห้าร้อยแล้ว)
กลับมาที่คำว่า "มีชีวิต" ตามหลักของจีน หมายถึง ธาตุของวัตถุนั้นๆ ยังคงสามารถเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนไปตามแวดล้อมได้อย่างสมดุล พูดกันง่ายๆคือ แป้งเปียกและรักแท้ สามารถหายใจได้นั่นเอง ซึ่งตรงกับการผลิกผันได้อย่างไม่สิ้นสุด ตามแนวคิดแบบเต๋านั่นเอง
จงเปี่ยวเคมีกับรักเทียม แห้งง่ายมาก และก็พังง่าย ทำไมนะ? กฎของธรรมชาติ ถั่วงอกโตเร็วฉันใด ก็ตายเร็วฉันนั้นครับ
และเรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงนั่นก็คือ คุณภาพเสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของดนตรี ถ้าเปรียบเทียบภายใต้ปัจจัยเดียวกันนั้น  คุณภาพเสียงสามาถเทียบรุ่นกันได้เลยครับ กู่ฉินของ อ.หวังเผิงที่ผมใช้เป็นรุ่นรักเทียม คุณภาพเสียงดีมาก (รักแท้ของแกราคาหลักล้าน) กู่ฉินรักแท้ในตลาดทุกวันนี้ถือเป็นของหายากชิ้นหนึ่งเลยครับ ราคาจึงสูงพอสมควร จนทุกวันนี้มีคำว่า "กู่ฉินดีๆซักตัวหาไม่ยาก แต่ที่ตลาดกู่ฉินขาดคือ ของแท้ "
ทั้งสองแบบต่างมีข่อดีข้อด้วยในตัวมันเองค่อนข้างชัดเจน แต่สุดท้ายการตัดสินใจก็เป็นเรื่องของแต่ละคนละครับ

การแตกลายงาบนกู่ฉิน


สำหรับหลายท่านที่ได้ศึกษาหรือตามตามบทความผมบ้างจะพบว่า
ผมพูดถึง "ต้วนเหวิน"(断纹)ที่แปลตรงตัวได้ว่า ลายร้าว หรือในภาษาไทยเราเรียกว่าแตกลายงานั่นเอง
 กู่ฉินสมัยราชวงศ์หมิง
กู่ฉิน นอกจากจะเป็นเครื่องดนตรีแล้ว ยังถูกจัดให้อยู่ในหมวดเรื่องรักอีกด้วย ถ้ายังจำกันได้ ผิวชั้นนอกสุดของกู่ฉินจะไม่ใช้ไม้โล่งๆ แต่ถูกเคลือบด้วยรักหลายต่อหลายชั้น อย่างแรกเพื่อเป็นการรักษาผิวอันอ่อนนุ่มของไม้ที่ใช้ทำกู่ฉิน อย่างที่สองเพื่อช่วยให้เสียงกังวาน และเมื่อเวลาผ่านล่วงเลยไป รักที่เคลือบอยู่นั้น ก็จะแห้งและหดตัว จนทำให้เกิดลายงาตามโอกาศ คนโบราณมีคำที่กล่าวว่า "กู่ฉินที่อายุไม่ถึงร้อยปี จะไม่มีต้วนเหวิน"
การเกิดต้วนเหวินนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือจะทำให้เกิดช่องว่างมาก ทำให้กู่ฉินมีเสียงที่ใสและชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนข้อเสียคือ ถ้าแตกเผยอมากๆ ก็อาจจะเป็นอุปสรรค์ในการบรรเลง ซึ่งก็ต้องนำมาซ่อม (ตามอ่านรายละเอียดได้ที่ ความเข้าใจผิดของใครหลายๆคน ในเรื่องทางกายภาพของกู่ฉิน) และลวดลายหลังจากการซ่อมแซม ก็จะปรากฎสีสันและเส้นสายสวยงามมากมาย ซึ่งคนโบราณนอกจากจะมองว่าต้วนเหวิน เป็นเครื่องแสดงอายุของกู่ฉินแล้ว ก็ยังเป็นความงามและคุณค่าอีกแบบเช่นกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีการตั้งชื่อต้วนเหวินหลายชื่อด้วยกัน เช่น ลายท้องงู ลายดอกเหมยหรือลายขนวัว เป็นต้น
ในยุคสมัยนี้ ที่กู่ฉินกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง คนกู่ฉินส่วนมาก ก็ได้รับอิทธิพลทางแนวคิดว่า กู่ฉินที่มีต้วนเหวิน คือกู่ฉินที่ดีและสวย ดังนั้นจึงมีการทำต้วนเหวินปลอมขึ้นอย่างกว้างขวาง และวิธีทำต้วนเหวินที่เร็วและดีที่สุด นั่นคือการผสมรักเคมีลงไป ยิ่งใส่มาก ก็ยิ่งแตกเร็วมาก นั่นเพราะว่ารักเคมีแห้งเร็วกว่ารักแท้หลายเท่าตัว
 รักแท้ เมื่อกรีดมาใหม่ๆจะเป็นสีดำ ทิ้งไว้ซักพักจะเป็นสีน้ำตาล และกลายเป็นสีดำสนิทเมื่อแห้ง
การทำกู่ฉินหนึ่งตัว ขั้นตอนใช้เวลานานที่สุดคือ การรอให้รักแห้งตัว กู่ฉินที่เคลือยด้วยรักแท้ ต้องใช้เวลาเกือบปี กว่าจะแห้งสนิท แต่ถ้ารักเคมี สามเดือนก็ออกขายได้แล้ว นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมกู่ฉินที่เคลือบด้วยรักแท้ จึงมีราคาที่สูงมาก แล้วความคงทนล่ะ แน่นอนว่ารักแท้ทนกว่า เพราะทุกวันนี้เราเห็นกู่ฉินอายุกว่าพันตกตกทอดมาสู่สายตาเรา (ซึ่งแน่นอนว่าผ่านการซ่อมแซมบ้าง) แล้วรักเคมีหล่ะ? จากการสอบถาม พบว่ากู่ฉินรักเทียมหลายตัว เมื่อผ่านเวลาราวสิบปี ก็เกิดรอยแตกที่ไม่พึงประสงค์ หรืออาจะหลุดร่นเป็นแผ่นๆ (ถ้าเคลือบได้ดีและหนาก็อาจจะอยู่ได้นานกว่า ก็มีจำนวนไม่น้อย) จากคำคนโบราณที่ว่า "กู่ฉินที่อายุไม่ถึงร้อยปี จะไม่มีต้วนเหวิน" นั่นแสดงว่า กู่ฉินที่คนโบราณทำออกมาได้แย่ที่สุด ก็ราวๆร้อยปีถึงจะมีปัญหาที่เกิดจากรอยแตก
 รักเทียมและต้วนเหวินปลอม
จากตำราโบราณที่ผมไปอ่านเจอ ถามว่าคนโบราณไม่มีทำต้วนเหวินบ้างหรอ? มีครับ แต่ทำเพื่อน "ทำของปลอม" ออกมาหลอกคนซื้อที่ไม่มีความรู้เท่านั้น นั่นแสดงให้เห็นว่าการเสพความงามจากต้วนเหวินของคนจีน เกิดจากคุณค่าทางการเวลามากกว่า
อาจมีพี่น้องชาวไทยบางคน สนใจกู่ฉินที่มีต้วนเหวิน แล้วอยากได้มาครอบครอง แน่นอนครับ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี แต่อาจจะเจอปัญหาเรื่องการดูแลรักษาที่ต้องใส่ใจเป็นสิบเท่า และมีโอกาศส่งเข้าอู่เพื่อซ่อมแซมบ่อยกว่าเพื่อน และอย่าลืมนะครับ กู่ฉินทำใหม่ที่มีต้วนเหวิน เคลือบด้วยรักเคมี!

ที่สำคัญไปกว่านั้น กู่ฉินแตกลายงาราคาสูงมากครับ  จากการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หลายท่านเห็นว่า ไม่ว่าจะซื้อกู่ฉินที่เคลือบด้วยรักแท้หรือเคมีก็ตาม ให้ซื้อแบบไม่มีต้วนเหวินดีที่สุดครับ เพราะอย่างน้อยต้วนเหวินที่เกิดจากรักเคมี มันก็จะค่อยๆเกิด ไม่ได้เกิดจากการเร่ง
ความเห็นส่วนตัวผม ถ้ามีเงินหมื่นบาท ซื้อกู่ฉินไร้ต้วนเหวิน จะได้คุณภาพเสียงดีกว่าแน่นอน  อย่าลืมว่า "ศิลปะ" นี่แหล่ะ ตัวแพง ถ้าศิลปะ 6000 บาท คุณคิดว่าคุณภาพเสียงกู่ฉินจริงๆจะเท่าไรกันครับ (ยกเว้นพิเศษในกรณีกู่ฉินจากมือช่างใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในการคุมคุณภาพเสียง และต้วนเหวินครับ)
สำหรับผู้ที่กำลังมองหากู่ฉินซักตัว ยังไงก็ลองพิจารณาจากปัจจัยข้างต้นดูครับ เลือกแบบไหนก็ไม่เสียหาย มีได้มีเสียทั้งคู่ อยู่ที่ว่าเราพอใจแบบไหนมากกว่ากันครับ

ุคุณค่าของกู่ฉิน


จากตำรากู่ฉินกว่าร้อยฉบับ ที่จดบันทึกโน้ตเพลงไว้มากกว่า 3,000 บทพบว่ามีเพลงแต่งใหม่เกิดขึ้นมาในทุกๆราชวงศ์ และทุกวันนี้ก็ยังคงมีเพลงกู่ฉินเกิดใหม่อยู่เรื่อยๆ นั่นแสดงให้เห็นว่า กู่ฉินเครื่องดนตรีโบราณอายุกว่า 4000 ปี สามารถมีชีวิตที่มีลมหายใจอย่างเข้มแข็ง จนทำให้อยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ได้นั้น

ไม่ใช่เพราะเชื่อว่าเทพเจ้าเป็นผู้คิดค้นขึ้น
ไม่ใช่เพราะว่าเป็นเครื่องบวงสรวงเทพเจ้าในยุคหิน
ไม่ใช่เพราะว่าได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งดนตรีจีน
ไม่ใช่เพราะว่าฮ่องเต้หรือไอดอลสมัยโบราณก็นิยมเล่น
ไม่ใช่เพราะว่า พวกนิยมของเก่าบอกว่าควรจะ “มีคุณค่า”

แต่เป็นเพราะว่า กู่ฉินให้ความสำคัญกับปัจจุบันขณะเป็นที่สุด บทเพลงใดๆก็แล้วแต่ หรือแม้แต่ตัวเครื่องเองที่อ้างฟ้าอ้างดิน เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในระบบเท่านั้น ลองจินตนาการดูว่าหากสาวกกู่ฉินทั้งหลาย นิยมแต่เพลงสมัยขงจื้อ ท่านคิดว่าพอถึงสมัยบูเช็กเทียน ยังจะมีคนรู้จักกู่ฉินอยู่อีกมั้ย

คุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็สำคัญ แต่มากเกินไปก็เข้าไปไม่ถึงเนื้อแท้

กู่ฉิน และ กู่เจิง


เรียบเรียงโดย ชัชชล ไทยเขียว

1. ชื่อเรียก
กู่ฉิน ภาษาจีนเขียนว่า 琴
กู่เจิง ภาษาจีนเขียนว่า 筝
ในสมัยโบราณจีนนิยมใช้คำโดด ต่อมาเนื่องจากวิวัฒนาการของมนุษย์ ทำให้มีสิ่งของมากกว่าคำ ทำให้เกิดการใช้คำคู่ ที่เกิดจากการผสมของคำโดดขึ้นมา ทำให้มีการเติมคำว่า “古 กู่” ที่แปลว่าเก่าแก่โบราณเข้าไป จนเป็นกู่ฉินและกู่เจิงที่เราคุ้นหูกันทุกวันนี้ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องชื่อของกู่เจิงที่นี่ http://guqinth.wordpress.com/2012/09/05/ทำไม-กู่เจิง-ชื่อกู่เจิง/ )

2. ขนาด
กู่ฉินมีขนาดเล็ก พกพาสะดวก มีความยาวประมาณ 120 ซม.
กู่เจิงมีขนาดใหญ่ เทอะทะ มีความยาวประมาณ 160 ซม.

3.จำนวนสาย
เดิมทีกู่ฉินมี5สาย มีการขุดค้นพบวัตถุโบราณ เป็นฉินที่มีสายแตกต่างกันอีกจำนวนไม่น้อย ทุกวันนี้เรานิยมใช้กันแบบ7สาย ไม่มีหย่องและเฟรท ทำให้กู่ฉินเพียงหนึ่งสาย สามารถบรรเลงเสียงออกมาได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นแบบที่เป็นมาตราฐานมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอีกเลย
ส่วนกู่เจิงนั้นเดิมมี5สายเช่นกัน แต่มีหย่อง กล่าวได้ว่า โครงสร้างของกู่เจิงนั้น ได้อาศัยโครงสร้างเดิมของกู่ฉินแล้วทำการปรับแต่งนั่นเอง ต่อมาได้เพ่ิมเป็น12สายในสมัยราชวงศ์สุย และ13สายในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งได้แผยแพร่ไปยังญี่ปุ่น จนกลายเป็นโคโตะในทุกวันนี้ (โคโตะยังคงใช้สัญลักษณ์โน้ตของจีนสมัยถังอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่จีนกลับเปลี่ยนไปใช้โน้ตตัวเลขอาราบิคเสียแล้ว) ปัจจุบันกู่เจิงมาตราฐาน มี21สาย และเนื่องจากกู่เจิงมีหย่อง ทำให้หนึ่งสาย บรรเลงได้ไม่เกิน3ครึ่งเสียงเท่านั้น

4.เสียง
กู่ฉินมีเสียงที่เรียบง่ายและแผ่วเบามาก ต้องการสภาพแวดล้อมที่สงบจริงๆ ถึงจะได้ยิน
แต่กู่เจิงมีเสียงที่ดังกังวาน สดใส สนุกสนานและฟังดูหรูหรากว่า

5.ประวัติศาสตร์
กู่ฉินมีอายุประมาณ 4,000 ปี
เพลงส่วนมากเป็นเพลงโบราณแท้ๆ มีโน้ตที่หลงเหลือมาทุกวันนี้ประมาณ 3,000 กว่าฉบับ แต่กู่เจิงมีเพลงโบราณแท้ๆน้อยมาก เนื่องด้วยตัวเครื่องที่ได้รับการปรับจำนวนสายตลอดเวลา ทำให้มีการเพิ่มเทคนิคแต่งเติมอะไรใหม่เข้าไปอยู่เรื่อยๆ ส่วนเพลงกู่เจิงโบราณนั้น ส่วนมากก็ดัดแปลงมาจากกู่ฉินทั้งสิ้น นอกนั้นเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่เป็นจำนวนมาก อีกสาเหตุก็คือเอกสารของกู่ฉินนั้น มีจำนวนมากมายมหาสาร ไม่ว่าจะเป็นโน้ตเพลงก็ดี หรือทฤษฎีกู่ฉินก็ดี แต่กู่เจิงนั้นเท่าที่ผมเห็นมา มีเพียงฉบับเดียวเท่านั้น (ปัจจุบันนี้วงการกู่เจิง ศึกษากู่เจิงสมัยถังด้วยโคโตะ เพราะทุกวันนี้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า กู่เจิงจริงๆสมัยนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งผมก็กำลังค้นคว้าอยู่ ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมจะเอามาแชร์กันครับ) ซึ่งก็เป็นโน้ตเพลงสมัยถัง กู่ฉินมีวัตถุโบราณที่ตกทอดลงมาหลายร้อยตัว และยังสามารถบรรเลงได้ ตัวที่เก่าแก่ที่สุดอายุไม่ตำว่า 1,200 ปี ส่วนกู่เจิงนั้นมีตกทอดมาไมกี่ตัว ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ได้เสียหายจนไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้แล้ว


6.ความยากง่ายในการเรียน
ท่าพื้นฐานจองกู่ฉินและกู่เจิงไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก แต่เมื่อไปถึงระดับกลาง กู่เจิงจะให้ความสำคัญกับความเร็วและแรงเป็นหลัก แต่สำหรับกู่ฉินกลับเน้นในเรื่องความช้า ความเบาสบายมากกว่า โดยรวมแล้วกู่เจิงและกู่ฉินมีความยากต่างกันไม่มาก ทุกวันนี้มีคอสกู่ฉินและกู่เจิงมากมายในจีน เรียน10ปีจบหลักสูตร ได้ใบประกาศสวยหรู แต่ถ้าหากกล่าวถึงภาวะความเข้าใจบทเพลงนั้น กู่ฉินต้องเรียนไปจนตาย

ทำไม กู่เจิง ชื่อกู่เจิง



กู่เจิง (古筝)ประกอบไปด้วย อักษร "กู่" (เก่าแก่) และ "เจิง" ซึ่งหมายถึงตัวเครื่องดนตรี ในที่นี้ "กู่" ทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบคำพยางค์คู่ในค่านิยมการสร้างคำในยุคใหม่ (สมัยก่อนเป็นคำโดดหนึ่งพยางค์) มีนัยว่าเก่าแก่โบราณ แต่ไม่แปลความหมาย ฉนั้นคำว่ากู่เจิงก็จะมีความหมายว่า "กู่เจิง" ไม่ได้แปลว่า "กู่เจิงที่เก่าแก่แต่อย่างใด" ซึ่งในสมัยโบราณจะเรียกว่า "เจิง" เท่านั้น (กู่ฉินก็เช่นเดียวกัน)
จากตำรา ซื่อหมิง(释名)ในสมัยราชวงศ์ฮั่นกล่าวว่า

"เจิง ขึ้นสายตึง เสียงคล้ายเจิงเจิง" (筝施弦高急筝筝然也)

ดังนั้นคนโบราณจึงเอาเสียงที่ออกมาจากตัวเครื่องตั้งชื่อให้เครื่องดนตรีชิ้นนี้นี่เอง (จากการปรึกษา ศ. ที่จบด้านภาษาโบราณ "เจิง" สมัยก่อนน่าจะออกเสียงเป็น "เจ็ง" หรือ "จิง" ซึ่งค้ลายเสียงกู่เจิงมาก)อักษร "เจิง" (筝)ประกอบไปด้วน 竹 ที่อยู่ด้านบน แปลว่าไม้ไผ่ ทำหน้าที่แสดงความหมาย และ 争 ทำหน้าที่ออกเสียง ไม่แสดงความหมาย อ่านว่า "เจิง" ดังนั้นจะเห็นได้ว่าต้นกำเนิดของเจิงในยุคแรกๆ ทำมาจากไม้ไผ่ผ่าซีกเช่นเดียวกับกู่ฉินนั่นเอง แต่แค่ใส่หย่องเข้าไป ก็กลายเป็นกู่เจิงแล้ว จากการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณกล่าวว่า "เจิง" ในสมัยก่อน ควรจะออกเสียง "จิง" หรือ "เจ็ง" อย่างที่อากงอาม่าในบ้านเราเรียกกู่เจิงว่า "โกวเจ็ง" นั่นเอง

ลูกบิดน้อยๆ


ลูกบิดเล็กๆที่อยู่ข้างล่าง บริเวณส่วนหัวของเครื่องดนตรี อันที่มีพู่ยาวๆประดับ มีไว้ตั้งสายใช่หรือไม่



ตอบ
อย่างที่เคยกล่าวไว้เมื่อนานมาแล้วว่า การขึ้นสายกู่ฉินนั้น ก่อนอื่นต้องสอดหัวแมลงวันซึ่งถักเป็นปม ที่ทำหน้าที่เกี่ยวสายและเกลียวไหมจากหมุดบิดไว้ด้วยกัน หลังจากนั้นดึงให้สายตึงได้ระดับเสียงที่เราต้องการ (ซึ่งใช้แรงเยอะมาก) แล้วก็แยกไปมัดกับขา2ขาที่ค่อนไปทางท้ายของตัวเครื่องให้แน่น
แต่ในบางครั้งสายยังจะคลายตัวได้อีก ซึ่งต่อไปก็จะเป็นหน้าที่ของลูกบิด เมื่อเราบิดลูกบิด เกลียวก็จะแน่นขึ้น สายก็จะตึงขึ้นตามด้วย และเสียงก็จะสูงตามไปด้วย ในทางกลับกัน ถ้าบิดไปอีกทาง สายก็จะหย่อนลง ซึ่งตรงนี้ก็คือหน้าที่แรกของลูกบิดนั่นเอง คือปรับเสียงละเอียดให้ตรงตามระดับที่ต้องการ
และเนื่องจากกู่ฉินไม่ได้มีรูปแบบการตั้งสายเพียงแบบเดียว ใบบางเพลง เราจะต้องตั้งสายอีกแบบ ซึ่งมีเป็น10กว่าแบบ เช่น ตึงสาย5 หย่อนสาย3 สาย1เป็นต้น ลูกบิดก็จะช่วยในการปรับตรงนี้ด้วย และนี่ก็คือหน้าที่ที่สองของมันครับ

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

ใครบอกว่าพิณที่ขงเบ้งดีดเสียงเบา


จากบทประพันธ์ของหลอกว้านจง ตอนบรรยายถึงตอนสุมาอี้ยกทัพไล่หลังขงเบ้ง ที่เหลือทหารเบาบางเพียงหยิบมือ
ขณะนั้นขงเบ้งก็ได้วางแผนให้ทหารแก่ ออกไปเปิดประตูเมือง แล้วทำทีเป็นกวาดทำความสะอาดลาน เมื่อสุมาอี้มาถึง ก็หยิบกู่ฉินดีดอย่างสบายอารมณ์ ด้วยเสียงเพลงที่สงบเยือกเย็น ทำให้สุมาอี้คิดว่าขงเบ้งต้องมีทหารกองใหญ่หรือมีกลลวงอะไรอยู่เบื้องหลังแน่ๆ เลยไม่กล้าเข้าโจมตี ทำให้ต้องถอยทัพในที่สุด

จุดนี้นักวิชาการออกมาบอกแล้วว่า ไม่มีจริงในประวัติศาสตร์ หรือถ้ามีจริงเสียงกู่ฉินก็สู้เสียงทัพใหญ่ๆไม่ได้แน่นอน
แต่คลิปนี้ แก้ปัญหานั้นได้หมดจด เชิญรับชมด้วยความฮา



จุดเริ่มต้นการเรียนกู่ฉินของข้าพเจ้า


ใครเคยดูหนังเรื่องนี้บ้างยกมือขึ้น



หนังเรื่อง Hero ในฉากศาลาหมากล้อม เป็นฉากที่ทำให้ผมเริ่มศึกษากู่ฉินอย่างจริงจังตั้งแต่ปี2003 จนบัดนี้เวลาผ่านไปจะ10ปีแล้ว ต้องขอขอบคุณจางอี้โหม่ว ที่ทำให้ข้าน้อยค้นพบเส้นทางชีวิตตนเอง แต่เมื่อนึกถึงตอนนั้นที่ภาษาจีนยังไม่แข็งแรง เสิชหาข้อมูลเท่าไรก็ไม่เจอ ว่ามันคือเครื่องดนตรีอะไรกันแน่ มีหลายท่านบอกว่าเป็นกู่ฉิน ซึ่งในหนังกับที่เสิชเจอ ไม่เหมือนกันซักนิด
ซึ่งจุดนี้ขอปรบมือให้กับฝ่ายจัดหาอุปกรณ์ประกอบฉาก เพราะว่ากู่ฉินในสมัยนั้น หน้าตาเป็นแบบนั้นแหล่ะครับ เพิ่งมารู้ตอนหลัง ส่วนที่เราเล่นๆกันอยู่นี้เป็นรูปแบบหลังราชวงศ์ฮั่นแล้ว

และยังขอปรบมือให้ฝ่ายจัดหานักแสดง ที่เชิญ อ. สวีควางฮว๋า (徐匡华)เจ้าสำนักกู่ฉินเจ้าเจียงที่สายตาปกติ มาแสดงเป็นนักกู่ฉินตาบอด ที่มีท่าทางการบรรเลงที่สมจริงที่สุด เท่าที่เคยปรากฎในสื่อบันเทิงทั้งหมดที่มีมา

และสุดท้ายขอไว้อาลัยแก่ท่าน อ. สวีควางฮว๋า ที่จากไปเมื่อปี2007 ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

ไม้ ที่ไม่น่าจะเอามาทำกู่ฉินได้


จากภาพเป็นไม้ซาน(杉)หรือสนหนามประเภทหนึ่ง ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 600 ปี นับจากถูกตัดมาใช้งาน ซึ่งจะเห็นว่ามีร่องรอยการถูกกินของแมลงจนพรุนไปหมด จนดูเผินๆคล้ายฟองน้ำ เหมือนไม้จะผุไปต่อหน้าต่อตา แต่ที่จริงแล้วไม้ชนิดนี้ กลับเป็นที่ต้องการของตลาดกู่ฉินชั้นสูงอย่างมาก เพราะแค่ไม้อย่างเดียว ราคาก็ปาไปหลักแสนแล้ว!

โดยปกติไม้ที่เราใช้ทำกู่ฉิน มักเป็นไม้เก่าแก่อายุหลายร้อยปี ที่ได้จากบ้านโบราณที่ไม่อาจซ่อมแซมได้ อาจได้มาจากในส่วนของเสาบ้าง ขื่อบ้าง คานบ้าง ซึ่งไม้จำพวกนี้ถือว่าหาไม่ยากเท่าไรนัก เพราะในประเทศจีนมีบ้านโบราณเยอะแยะไปหมด ทำให้ต้นทุนไม้โบราณไม่สูงเท่าไร แต่ถ้าไม้ชิ้นนั้นมีแมลงเจาะจนเป็นโพลงได้พรุนขนาดนี้ล่ะก็ กู่ฉินที่สำเร็จออกมาเป็นตัว ราคาจะขึ้นหลักล้านทันที เพราะอะไร? ก็เพราะว่าไม้โพลงแมลง หรือในภาษาจีนเรียกว่า ต้งโต้วฝุ (冻豆腐)ที่แปลว่า เต้าหู้แช่แข็ง (เต้าหู้เมื่อมันถูกแช่แข็ง น้ำแข็งจะกัดมันจนพรุน และเมื่อเต้าหู้ละลาย ก็จะเกิดช่องว่างถี่ๆเหมือนฟองน้ำนั่นเอง) เพราะว่าโดยปกติแล้วกู่ฉินทำใหม่ เสียงจะอับและทึบ ต้องผ่านการเล่นเป็นระยะเวลาพอสมควรเสียงจะโปร่งขึ้นจากการนวดของคลื่นเสียง ซึ่งอาจจะใช้เวลา3-5ปี หรือมากกว่านั้น แล้วหลังจากนั้นเสียงจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าได้เจ้าไม้โพลงแมลงนี้มาแล้ว เสียงจะโปร่งตั้งแต่แรกเลยแล้วก็จะโปร่งขึ้นอีกอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญไม้ชนิดนี้ได้ชื่อว่า "หา ไม่เจอ ไม่หา ถึงเจอ" จึงทำให้มันกลายเป็นไม้ในตำนานไปโดยปริยาย ซึ่งทุกวันนี้ในเมืองจีน ไม่น่าจะมีเกิน5แผ่น! (ของผมก็เป็นหนึ่งในนั้นนั่นเอง)


ตอนนี้ได้สั่งทำไปแล้ว 1 ปี ปลายปีหน้าหรือต้นปี 57 น่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งได้ศิษย์น้องผู้เรียนทำกู่ฉินด้วยกัน นามว่าหวังสือ(王实)ซึ่งตอนนี้ได้มีฝีมือและความเชี่ยวชาญแซงผมไปแล้วหลายล้านปีแสง เป็นผู้ลงมือทำในส่วนของการจัดการด้านโครงสร้างทั้งหมด ส่วนในเรื่องการเคลือบก็ได้ช่างรักมือหนึ่งในจีนที่ฮกเกี้ยน วัย72 เป็นผู้เคลือบให้ โดยการเคลือบกู่ฉินแต่ละชั้น ต้องผ่านการเก็บงานให้เรียบก่อน ถึงจะส่งเคลือบต่ออีกชั้นได้ ศิษย์น้องผู้ทำกู่ฉินที่โรงงานปักกิ่ง กับ ช่างรักที่ฮกเกี้ยน นั่นแปลว่า กู่ฉินต้องเดินทางไปกลับ 20 กว่ารอบ !เพราะว่าแต่ละคนมีหน้าที่ของตน จึงมานั่งทำด้วยกันไม่ได้นั่นเอง ซึ่งของผมเองกำลังเริ่มทำการเคลือบชั้นแรก



ท่านนี้คือศิษย์น้องที่กำลังจัดการกู่ฉินให้ผมนั่นเอง

หลักการซ้อมกู่ฉินที่ดี


ในการซ้อมกู่ฉินแต่ละครั้ง ให้เรียงลำดับความสำคัญดังนี้
  1. ตัวโน้ตหลัก:ดูว่าใช้เทคนิคถูกต้องหรือไม่ เสียงเพี้ยนหรือไม่ คมชัดสะอาดหรือไม่ จังหวะถูกต้องหรือไม่
  2. เสียงตกแต่ง :ดูว่ามีจำนวนครั้งตามความเหมาะสมชองช่องว่างที่เหลือหรือไม่ มีความละเอียดเหมาะกับบริบทของวลีเพลงหรือไม่
  3. เสียงเชื่อม: (ไม่ปรากฎในโน้ต ต้องจำจากที่ครูบอกเอง) ว่ามันทำให้ประโยคเพลง มีลมหายใจที่ต่อเนื่องหรือไม่ เป็นต้น
แต่ถ้ามองในมุมของตัวเพลงนั้น ทั้ง3ข้อมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด (เชื่อว่าข้อ1นักเรียนหลายคนทำได้ค่อนข้างดีแล้ว) จงจำไว้ว่า ในการเล่นกู่ฉินนั้น "ถ้าขาดข้อ2เพลงจะไร้สำเนียง ถ้าขาดข้อ3เพลงก็จะไร้ชีวิต" แต่ถ้าขาดทั้งข้อ2และ3  ดนตรีก็จะกลายเป็นดนตรีหุ่นยนตร์



ไม่สำคัญว่าเราซ้อมวันละกี่ชั่วโมง ถ้าให้ความสำคัญถูดจุด ห้านาทีก็พัฒนาได้
อ. ชัช

กู่ฉิน เกี่ยวกับกวีได้อย่างไร


กู่ฉิน แบ่งเพลงเป็นสองประเภท

หนึ่ง ฉินฉวี่ (琴曲) เพลงกู่ฉินหรือกู่ฉินโซโล่
สอง ฉินเกอ (琴歌) กวีประกอบกู่ฉิน

แบบที่สองนี่แหล่ะครับที่ผู้เรียนต้องมีความรู้ด้านกวีค่อนข้างสูง ทั้งการอ่านออกเสียงที่ชุดเจน การเอื้อนและสัมผัสต่างๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงนัยอันลึกซึ้งทางวัฒนธรรมอีกด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องเล่นกู่ฉินเก่ง!(กวีหลายคนเล่นกู่ฉินได้ แต่ไม่ใช่นักกู่ฉินที่เก่ง ในเวลาเดียว กันนักกู่ฉินที่โด่งดังหลายท่าน ก็ไม่เชี่ยวชาญกวีมากนัก)

เพราะนี่คือการขับกวีเป็นเพลง เหมือนเราร้องเพลงละครเกาหลีทั่วไปโดยมีคาราโอเกะที่เป็นกู่ฉินเล่นตามเท่านั้นเอง (ที่จริงคนโบราณกล่าวถึงบทกวีดีมีคุณภาพว่า "กวีที่ร้องไม่ได้ ไม่ใช่กวี" ฉนั้นแล้ว กวี=เพลง นั่นเอง) นั่นหมายความว่า "กวีเป็นหลักกู่ฉินเป็นรอง" รูปแบบนี้เคยฮิตมากในสมัยราชวงศ์ซ่ง ขนาดว่าใครเล่นกู่ฉินต้องร้องกันทุกคน แต่ต่อมาก็ค่อยๆหายไป เนื่องจากตัวกู่ฉิน (หรือเครื่องดนตรีเดี่ยวอื่นๆ เช่น กีตาร์คลาสสิค เป็นโน เป็นต้น) ได้พัฒนาการสื่อสาร จนหลีกหนีคำพูดของมนุษย์ไปแล้ว
ฉนั้นถ้ากล่าวถึงนักกู่ฉิน ส่วนมากจะสื่อถึงการบรรเลงเดี่ยวมากกว่า ส่วนกู่ฉินประกอบกวี ผมมองว่าเป็นอีกศาสตร์ที่เน้นหนักไปอีกทาง ส่วนตัวไม่นับว่าเป็นการเล่นกู่ฉินที่แท้จริง


วิวัฒนการของโน้ตกู่ฉิน


โน้ตกู่ฉินรุ่นแรกสุด จากที่บันทึกการลงนิ้วและตำแหน่งบนสายด้วยอักษรจีนทีละตัวๆในสมัยก่อนราชวงศ์ถัง ที่มีชื่อเรียกว่า "เหวินจื้อผู่(文字谱)" หรือโน้ตตัวอักษรจีน และเนื่องจากความซับซ้อนวุ่นวายไม่เป็นระบบของมัน ทำให้ปลายราชวงศ์ถังได้มีการนำอักษรเหล่านั้น มาย่อด้วยการลดทอนขีดลงแล้วทำมาจัดเรียงใหม่ ทำให้ประโยคยาวๆทั้งประโยค ลดลงมาเหลือเพียงตัวเดียว ซึ่งง่ายต่อการใช้งานกว่าเดิมหลายเท่าตัว โน้ตแบบนี้เรียกว่า
"เจี่ยนจื้อผู่(减字谱)" หรือโน้ตอักษรย่อ ซึ่งเป็นโน้ตที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่ยังคงใช้กันเรื่อยมานานนับพันปีแต่ข้อด้อยของเจี่ยนจื้อผู่นั้นก็คือ ไม่มีการกำกับความยาวของตัวโน้ตหรือจังหวะเอาไว้เลย ทำให้โน้ตเพลงหลายพันฉบับค่อยๆหมดลงหายใจลง หนึ่งด้วยความนิยมเปลี่ยนไปตามสมัย สองเนื่องด้วยมีการสืบทอดแบบจงใจจำกัด นั่นทำให้นักกู่ฉินหลังยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ได้เริ่มนำโน้ตกู่ฉินมาวางเคียงกับโน้ตห้าเส้นของสากล บ้างก็วางกับโน้ตตัวเลขที่ดนตรีจีนนิยมใช้ ซึ่งก็เป็นที่เฟื่องฟูมากจนกู่ฉินเริ่มกลับมามีการพัฒนาอีกครั้ง (ส่วนตัวผมกำลังใช้ระบบโน้ตอีกแบที่ปรับปรุงขึ้นมาเอง โดยศึกษาจากโน้ตโตโตะและพัฒนา ยังไม่เคยมีใครเคยคิดมาก่อน)

แต่เนื่องจากมีครูบางท่านพบว่าเจี่ยนจื้อผู่ก็วุ่นวายเกินไป ก็มีการคิดค้นสัญลักษณ์ใหม่ เรียบง่ายกว่า ดูสากลกว่ามาแทนอักษรย่อแล้วไปวางบนโน้ตห้าเส้นโดยตรง ซึ่งนั่นหมายความนักกู่ฉินรุ่นใหม่ไม่ต้องอ่านเจี่ยนจื้อผู่แล้ว อ่านห้าเส้นเล่นกันเลย แต่แน่นอนแนวคิดที่ถูกตีพิมพ์มาเป็นหนังสือนี้ ไม่ได้รับการสนับสนุน เพราะ หนึ่ง ระดับเสียงกู่ฉินในฐานะดนตรีเล่นให้ตัวเองฟัง แต่ละตัวสามารถตั้งเสียงได้ตามใจ สอง ถ้าระบบใหม่เป็นที่นิยม ต่อไปนานเข้า เจี่ยนจื้อผู้จะกลายเป็นอักษรแห่งสรวงสวรรค์จริงๆ คือไม่มีคนอ่านออก อีกทั้งเหมือนเป็นการทำให้กู่ฉินศึกษาตัดขาดจากชีพจรเดิมไปเลย ระบบใหม่นี้จึงเป็นอันล้มเหลวไป

ถึงกระนั้นก็ตาม ทุกวันนี้ก็ยังคงมีการพัฒนาระบบบันทึกโน้ตกู่ฉินอยู่เรื่อยๆ สุดท้ายก็ยังคงไปจบที่เจี่ยนจื้อผู่อยู่ดี นั่นแปลว่า เราอาจจะต้องคิดค้นระบบกำกับจังหวะแบบใหม่ขึ้นมา โดยที่ใช้สัญลักษณ์ของเก่าที่เหมาะสมอยู่แล้ว น่าจะเป็นผลดีต่อวงการกู่ฉินศึกษาทั้งในด้านการบรรเลงและวิชาการมากที่สุด