วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

สั่งทำกู่ฉินชั้นสูง


รูปภาพ
อ.หวังสือ ศิษย์น้องร่วมสำนักของผม กำลังจะออกมาทำออฟฟิซทำกู่ฉินส่วนตัวปลายปีนี้ เพราะทำกับนายทุนแล้วไม่อิสระ ปีนึงต้องเร่งทำ20-30ตัว ไม่สามารถทำของดีที่สุดได้จริงๆ ซึ่งการออกมาทำเองนี้ จะกำหนดปริมาณการทำไม่เกิน5ตัว หรือขึ้นอยู่กับวาสนาว่าจะได้เจอไม้ดีๆกี่แผ่น เงื่อนไขไม้คือต้องอายุไม่ต่ำกว่า300ปี คัดจาก1ใน1,000ชิ้น หมายความว่าเหมาไม้มา1,000แผ่น 999แผ่นทำฟืน (ต่อให้มีคนเอาเงินให้10-20ล้าน สั่งให้หาไม้เพิ่มเพื่อทำ10ตัวก็ไม่รับ หรือถ้าไม่ถูกชะตาก็ไม่ทำให้) ซึ่งวัสดุอื่นที่ใช้จะเป็นวัสดุธรรมชาติแท้ๆคุณภาพสูงสุดในประเทศเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นยางรักจากฮกเกี้ยน เขากวางแห้งจากร้านยาจีนชั้นสูง ลูกบิดและขาตั้งหยก ไม้ประกอบเป็นจื่อถานอายุเป็นร้อยปี เป็นต้น
กู่ฉินฝีมือ อ.หวังสือจะทำออกมาแค่สองรุ่นเท่านั้น คือรุ่นปกติ(800,000บาท) และรุ่นอัญมณีทั้งแปด (1,300,000บาท) ซึ่งจะมีทองคำและหินล้ำค่าต่างๆผสมลงไปในชั้นเคลือบเพื่อให้เสียงดีขึ้นและเพิ่มคุณค่าในการสะสมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน คุณค่าที่เป็นวัสดุธรรมชาติแท้ที่หาไม่ได้ในจีนจะทวีคูณในวันข้างหน้าแน่นอน
เงื่อนไขการสั่งจองคือ จ่ายเต็มจำนวน รอรับกู่ฉินอีก2ปีข้างหน้า แล้วถ้าไม่มั่นใจว่าดีสมราคารึเปล่าล่ะ มัดจำได้มั้ย? ศิษย์น้องบอกว่า “ไม่มั่นใจก็ไม่ต้องเอา”
ภาพประกอบไม้โพลงแมลงในตำนาน กู่ฉินที่ผมสั่งทำไว้เป็นเครื่องประจำตัว ไม้ชนิดนี้ราคาจะสูงกว่าที่กำหนดไปอีกมากครับ เพราะหายาก
L1120536L1120539IMG_5482
ภาพ อ.หวังสือและกู่ฉินก่อนเคลือบ
KG3L3AOC`Q4}TCND}V4522U
เคลือบแล้วสวยมากๆ
รูปภาพรูปภาพรูปภาพ

สนใจสั่งทำกู่ฉินชั้นสูง ติดต่อ tq.canchuan@hotmail.com

ยางรัก 漆


ยางรัก 漆 วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการเคลือบกู่ฉิน เมื่อถูกกรีดออกมาใหม่ๆจะมีเนื้อยางสีขาวเหมือนกระดาษ พอผ่านไปซักพักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เมื่อไกล้แห้งก็จะกลายเป็นสีดำสนิท นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมกู่ฉินถึงเป็นสีดำ แต่ช่างกู่ฉินสมัยนี้กลัวขายไม่ออก เพื่อเพิ่มความสวยงามก็แล้วแต่จะใส่สีอะไรลงไปผสม ที่สำคัญใช้แลกเกอร์เคมีเคลือบอีกต่างหาก
 
 รูปภาพ

กู่ฉินและความสูงส่ง


รูปภาพ

หร่วนจี๋ 阮籍 หนึ่งในเจ็ดเมธีในป่าไผ (ราชวงศ์จิ้น) เป็นต้นกำเนิดแนวคิดยกระดับกู่ฉินโดยพยายามจับโยงเข้าหาเทพเจ้าและจักรวาล แนวคิดนี้มีอิทธิพลอย่างมากในยุคต่อๆมา ซึ่งจะปรากฎในอารัมภบทในตำรายุคราชวงศ์หมิงและชิงเกือบทุกเล่ม จนทำให้เกิดค่านิยม “เล่นกู่ฉิน=ปัญญาชน” ขึ้น เล่นแล้วเท่ เล่นแล้วคิดไปเองว่าเหนือกว่าคนอื่น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ “แก่น” ของดนตรี (แต่หากเปรียบเทียบในเชิงคุณค่าและความเข้มข้นทางวัฒนธรรม นักวิชาการชาวจีนยอมรับว่ากู่ฉินมีความลึกซึ้งมากกว่า)

ฉิน เส้อ 琴瑟


รูปภาพ

ในยุคราชวงศ์โจว กู่ฉินและเส้อ จากหลักฐานต่างๆแสดงให้เห็นว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ต้องบรรเลงด้วยกันเสมอ ไม่สามารถแยกจากกันได้ จากโบราณวัตถุกู่ฉินที่ถูกขุดเจอในสุสานอายุกว่า2400ปี พบว่ากู่ฉินในยุคนั้นมีข้อจำกัดในการบรรเลงอย่างมาก คือสามารถบรรเลงได้เพียงสายเปล่าเท่านั้น ทำให้รูปแบบของเพลงมีความซ้ำซากจำเจ ซึ่งเส้อซึ่งมีระยะเสียงที่มากกว่าและให้สีสันเสียงที่สดใสกว่า ก็จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในบทเพลงมากขึ้น ยุคนี้รูปแบบการบรรเลงหลักๆคือทำหน้าที่เป็นดนตรีประกอบให้กับการขับกวีของชนชั้นสูงในพิธีกรรมและงานรื่นเริงนั่นเอง

จิ่วเต๋อ 九德


ตำรา ฉินซูต้าเฉวียน 琴书大全 สมัยราชวงศ์หมิง ได้กล่าวถึงการคัดเลือกกู่ฉินที่ดี ว่าควรมีคุณสมบัติไว้เก้าประการ หรือเรียกว่า จิ่วเต๋อ 九德 ดังนี้
รูปภาพ
1. 奇 ฉี :ไม้มีน้ำหนักเบา โปร่ง เปราะ ลื่นมือ
2. 古 กู่ :เสียงโบราณดั่งระฆังหิน
3. 透 โท่ว:เสียงโปร่งกังวานไม่สะดุด
4. 静 จิ้ง:เสียงเงียบสงบ
5. 润 รุ่น:เสียงนุ่มละมุน หางเสียงยาวนาน
6. 圆 หยวน:หางเสียงมีเนื้อเสียงแน่น
7. 清 ชิง:เสียงใสดั่งกระดิ่งลม
8. 匀 อวิ๋น:เนื้อเสียงสมดุลกันในทุกจุดบรรเลง
9. 芳 ฟาง:ยิ่งดีดเสียงยิ่งกังวานยาวนาน
แนวคิดนี้มีอิทธิพลและได้รับการยอมรับในวงการกู่ฉินอย่างกว้างขวางมาก จนกลายเป็นเครื่องวัดมาตราฐานคุณภาพกู่ฉินมาจนถึงทุกวันนี้ กล่าวได้ว่ากู่ฉินที่มีคุณสมบัติครบทั้ง9ประการนั้นเป็นสิ่งสุดยอดล้ำค้าที่หาได้ยากมากๆ แต่กู่ฉินฝีมือช่างในสมัยใหม่มีได้3-4ประการก็ถือว่าไม่เลวแล้ว ซึ่งสิ่งสำคัญที่เราเห็นได้ชัดคือ คนโบราณให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพเสียงมากกว่ารูปร่างหน้าตานั่นเอง
การบอกว่าอยากเรียนกู่ฉินเพื่อขึ้นเวทีแสดง 
ก็ไม่ต่างกับบอกว่าอยากปฏิบัติธรรมให้คนอื่นดูรูปภาพ

ยางรักธรรมชาติ ยางรักเคมี


รูปภาพ

กู่ฉินเก่าแก่สมัยอายุหลายร้อยหลายพันปีที่ยังมีสภาพเยี่ยมยอดมาถึงทุกวันนี้ ปัจจัยสำคัญคือ คนโบราณจะใช้ไม้อายุหลายร้อยปีที่ไม่หดคลายตัวแล้วมาทำบวกกับวัสดุเคลือบที่เป็นธรรมชาติ100% ซึ่งให้ความโปร่งมากกว่าเคมร แต่ในขณะเดียวกันก็มีความแข็งเกือบเท่าหิน ซึ่งช่วยกันการกระแทกและช่วยกันความชื้นได้เป็นอย่างดี 
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องซ่อมเลย เมื่อกู่ฉินถูกเล่นนานๆเข้าบริเวณที่กดสายบ่อยๆก็จะสึกหรอเป็นธรรมดา หรือเมื่อผ่านไปร้อยปี ชั้นเคลือบเมื่อแห้งแบบสุดๆก็จะเกิดรอยร้าวขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องส่งซ่อมด้วยการเคลือบซ้ำแล้วขัดผิวให้เรียบอีกครั้ง ซึ่งการรอชั้นเคลือบแห้งก็อาจต้องใช้เวลากว่า3เดือน เมื่อซ่อมเสร็จแล้วเสียงก็จะกลับไปดีเหมือนเดิม
แต่มีเรื่องน่าเศร้าที่กู่ฉินโบราณตกสู่มือช่างสมัยใหม่ ช่างบางคนได้รับมอบหมายให้ซ่อมกู่ฉินโบราณ กลับใช้วัสดุเคมีในการเคลือบ ปัญหาแรกคือชั้นเคลือบจะไม่ติดทนนาน ไม่ถึงสามสี่สิบปีอาจจะร่อนออกมา แล้วอาจจะเกี่ยวชั้นเคลือบโบราณปริออกมาด้วย และการเคลือบด้วยวัสดุเคมีก็ไม่ต่างอะไรกับเอาเสื้อกันฝนไปห่อรอบตัวกู่ฉิน ซึ่งเสียงที่ออกมาก็จะแย่ลงกว่าเดิมอีกด้วย ฉนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่าอายุของกู่ฉินเก่าแก่โบราณจะหมดในยุคของเรานี้เองครับ (กู่ฉินในท้องตลาดกว่า99.99%เคลือบด้วยวัสดุเคมี วิธีแก้เสียงอับของช่างคือการเคลือบให้บางลงกว่ามาตราฐาน ซึ่งแน่นอนว่าอายุก็สั้นลงด้วย)

ชี้แจง


รูปภาพ
เนื่องจากผมไปเจอโพสต์ที่อ้างอิงถึงบทความนี้โดยบังเอิญ โดยมีการตีความว่า “ดีดแบบใช้แรงอย่างเดียวให้ไปดีดเจิง แต่ดีดได้อารมณ์เพลงให้ดีดฉิน” ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนจากเจตนาของบทความไปมาก ผมจึงขอชี้แจงรายละเอียดเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องซักเล้กน้อยครับ
ก่อนอื่นจะขอชี้แจงประโยคที่ว่า “ดีดมาเสียงดังโหวกเหวกแบบนี้ ไม่ใช่ฉิน แต่เป็นเจิง” ประโยคนี้ ศ.อู๋เจ๋า 吴钊ปรมาจารย์กู่ฉินศึกษารุ่นใหญ่ได้ตำหนิกู่ฉินตัวแรกที่ อ.หวังเผิงผลิตโดยไร้ประสบการณ์และความเข้าใจ โดยทำออกมาเสียงใสดังจนเหมือนกู่เจิง แต่กู่ฉินควรมีเสียงที่กังวานลึก (อ้างอิงhttp://youtu.be/NYw9Qek0jNg) ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการกล่าวถึงอัตลักษณ์ของเครื่องที่แตกต่างกัน ไม่ได้เป็นการกล่าวว่ากู่เจิงไม่ลึกซึ้งแต่อย่างใด
ต่อไปอธิบายเสริมประโยคที่ว่า “ถ้าดีดฉินไม่ชัดแบบนี้ ไปดีดเจิงเถอะ” อ้างอิงจากตำรา “ซีซานฉินควั่ง” (溪山琴况) เขียนในสมัยราชวงศ์หมิง กล่าวถึงความงามของเสียงกู่ฉินประการที่3ใน24ประการ คือ 清 ชัด “语云弹琴不清。不如弹筝。” (คนโบราณกล่าวว่าดีดฉินไม่ชัด ไปดีดเจิงซะดีกว่า) อ้างอิงhttp://www.guqin.net/newweb/32.htm นั่นเป็นการเน้นย้ำว่ากู่เจิงมีความใสเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว
ประโยคทั้งสองที่ยกมานั้นเพื่อแสดงเจตนารมณ์ให้เห็นถึงทัศนะของคนโบราณที่มีต่อเครื่องทั้งสองอย่างชัดเจน ซึ่งก็สะท้อนเจตนารมณ์ทางดนตรีที่แตกต่างได้ด้วย บทความนี้เขียนเพื่อให้ผู้สนใจแยกให้ออก และสามารถเสพศาสตร์นั้นๆได้อย่างถูกต้องและเข้าใจ
ซึ่งจริงๆแล้วการเข้าใจคลาดเคลื่อนนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่หากพบจุดไหนผมเขียนไม่กระจ่าง กำกวม (ในกรณีที่รักวิชาการมาก) สามารถถามหรือโต้แย้งผมโดยตรง จะทางข้อความส่วนตัวหรือโพสต์หน้าวอลล์ก็แล้ว ผมยินดีเปิดรับทุกความคิดเห็นครับ

ลูกบิดกู่ฉินที่หลายคนยังเข้าใจผิด


รูปภาพ
สำหรับท่านที่เล่นเครื่องสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกู่เจิง กีตาร์ ไวโอลินหรือจะเข้ก็ตาม ลูกบิดของเครื่องจะสามารถตั้งสายให้ตึงได้ตามเท่าที่ต้องการ แต่สำหรับลูกบิดกู่ฉินนั้นทำหน้าที่ปรับแบบละเอียดได้เท่านั้น (4เซมิโทนโดยประมาณ) ซึ่งการขึ้นสายครั้งแรกนั้นต้องใช้แขนดึงให้ได้ความตึงตามระดับเสียงที่ต้องการ แล้วนำปลายสายไปรั้งไว้กับขาที่อยู่ใต้เครื่อง หากเสียงไม่ตรงพอดีถึงจะใช้ลูกบิดปรับละเอียดให้เป๊ะอีกทีครับ นอกจากนี้การปรับลูกบิดยังใช้ในการเปลี่ยนคีย์ที่ใช้บรรเลงอีกด้วย

ช่องเสียงที่แตกต่าง


รูปภาพ

ช่องเสียงของกู่ฉิน มีทั้งแบบกลมและแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่างต้องตัดสินใจล่วงหน้าแล้วว่าจะทำมาแบบไหน กล่าวคือถ้าจะทำช่องเสียงคนละแบบ การจัดการโครงสร้างภายในด้วยการขุดให้หนาบางหรือแม้กระทั่งทิศทางของการขุดก็ต้องทำไปอีกแบบ และท้ายที่สุดเสียงที่ออกมาก็ไม่เหมือนกันไปด้วย

อะไรที่เรียกว่ากู่ฉินที่ดี?


รูปภาพ

คนโบราณมีคำจำกัดความคุณภาพเสียงของกู่ฉินที่ดีว่า “ใสกังวานดั่งเสียงระฆังโลหะหรือระนาดหิน” (ขึ้นด้วยสายไหมเท่านั้น สายโลหะที่นิยมในปัจจุบันจะให้เสียงแบบนั้นไม่ได้) และที่สำคัญไปกว่านั้น กู่ฉินที่ดี ไม่ว่าจะกดสายหรือรูดสายไปที่ใด ความดังเบา ความกังวานและเนื้อเสียงต้อง”สมดุล”เหมือนกันในทุกๆจุด (ไม่ใช่ที่นึงเสียงดังที่นึงเสียงเบา หรือเนื้อเสียงเปลี่ยนไปเลย) ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้นั้น ช่างต้องมีความเชี่ยวชาญแบบสุดๆ เริ่มตั้งแต่ความสามารถการเลือกไม้ ความลึกของการขุดไม้ในจุดต่างๆหรือแม้กระทั่งความหนาของการเคลือบ พูดได้ว่าช่างที่เชี่ยวชาญมากๆประหนึ่งว่าสามารถมองเห็นคลื่นเสียง และกำหนดอนาคตของเสียงกู่ฉินที่ต้องใช้เวลาทำทั้งหมด2ปีได้เลยทีเดียว

การแกะอักษรใต้ท้องกู่ฉิน


รูปภาพ

คนโบราณนิยมแกะสลักบทกวีหรือบทความไว้บนกู่ฉิน เพื่อเป็นไดอารี่เล่าเรื่องราวเมื่อเวลาผ่านไปแล้วหลายร้อยปีจะได้มีคนรู้ที่มาของมัน บ้างก็เขียนชมน้ำเสียงของตัวเครื่อง บ้างก็สลักว่าใครเป็นผู้ผลิต หรือตกทอดมาสู่ใคร เป็นต้น แต่เมื่อกู่ฉินเข้าสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม มือคนแกะก็เห็นจะไม่ทันความต้องการของตลาด ก็เลยเลเซอร์ซะเลย ข้อดีคือได้ความคมชัดและรายละเอียดเหมือนต้นฉบับตัวอักษรที่อาจารย์พู่กันจีนเขียนไว้ แต่ข้อเสียคือไม่มีหนักเบา ทำให้ดูไม่มีชีวิตเท่าแกะมือ
ภาพ กู่ฉินตัวหนึ่งของผมกำลังเลเซอร์อักษรที่โรงงานในปักกิ่ง อักษรเขียนโดย อ.เฉินอี๋มั่ว อาจารย์พู่กันจีนประจำโรงงาน

การซื้อกู่ฉินคุณภาพสูงมีใบรับรองหรือไม่


รูปภาพ
เราอาจคุ้นเคยกับมาตราฐานของญี่ปุ่น ที่ทุกอย่างมีรุ่นมีใบรับประกันอย่างชัดเจนโดยเฉพาะของคุณภาพระดับสูง อาทิ ดาบซามูไร เป็นต้น แต่สำหรับเมืองจีนแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ซีเรียสมากนัก กล่าวว่าแล้วแต่แต่ละโรงงานจะจัดการอย่างไร ใบรับรองรุ่นสำหรับกู่ฉินนั้นอาจจะมีในโรงงานระดับกลางสูงที่ต้องการสร้างความเป็นระบบมากๆ ซึ่งส่วนมากไม่มีนโยบายนี้ กู่ฉินที่ผมสั่งทำเมื่อสองปีก่อนราคาหลักล้าน แต่นี่ถือเป็นกรณีที่เราไปติดต่อกับช่างมืออาชีพที่ไม่ได้สร้างเป็นโรงงานแบบอุตสาหกรรม ซึ่งก็ยิ่งไม่ต้องหวังว่าจะได้ใบรับรองอะไรทั้งสิ้น

ปลอมแล้วปลอมอีก


รูปภาพ

เยวี่ยซาน 岳山 ส่วนที่ทำหน้าที่ยกสายให้สูงจากผิวหน้าของเครื่อง นิยมใช้ไม้เนื้อแข็งที่มีสีเข้มทำ เพราะจะส่งการสั่นสะเทือนไปสู่ภายในเครื่องได้ดีกว่า ไม้เนื้อยิ่งแข็งเสียงก็ยิ่งดี ในขณะเดียวกันไม้ยิ่งแข็งก็ยิ่งมีราคาสูงด้วย ในบางโรงงาน กู่ฉินคุณภาพกลางๆถึงล่าง มีการย้อมไม้ให้เข้มเพื่อลดต้นทุน แทนที่จะซื้อไม้แดงราคาแพง ก็หาไม้เนื้อแข็งเกรดล่างมาย้อมซะเลย (สำหรับคนจีน 红木 หงมู หรือไม้แดง เป็นไม้ที่ให้ความรู้สึกแพง) สังเกตุจากภาพจะเห็นว่าไม้ในรูจะสีอ่อนกว่า จุดนี้ผู้ซื้อเองแบบไม่มีผู้เชี่ยวชาญปรึกษาต้องระวัง

ทุกอย่างมีเวลาของมัน


รูปภาพ

บทสนทนาของผู้สนใจและะ Dr. Samuel Wong
“ผีผานี่เด็กเล็กๆเรียนได้มั้ย”
“ไม่ได้ เพราะมันขนาดเกินมือเด็กเอื้อมถึง”
“เคยเห็นผีผาขนาดเล็ก”
“แต่เด็กก็ไม่มีแรงดีดอยู่ดี”
บทสรุปของครูกู่ฉิน
ถึงจะมีครูที่เก่งที่สุดในโลก เด็กที่อัจฉริยะที่สุดในจักรวาล ก็ไม่อาจงัดกับธรรมชาติได้อยู่ดี นั่นเพราะทุกอย่างมันมีเวลาของมัน

วลีเด็ด


รูปภาพ

“การที่จะพัฒนาเทคนิคของกู่ฉิน ให้ซับซ้อนขึ้นเทียบเท่ากับเครื่องดนตรีสากลอื่นๆ ถามว่าทำได้มั้ย ได้สิ แต่ถ้าพยายามจนเกินขอบเขตของคอนเซปเดิมจนเสียอัตลักษณ์ของมันไป ก็ไม่สู้ไปเล่นไปเครื่องที่พยายามจะก๊อปซะเลยไม่ดีกว่าหรอ – ชั้นจะดีดช้า ชั้นจะเสียงเบา ชั้นจะฟังยาก แต่ถ้าจะเธอหาดนตรีที่เป็นตัวแทนอารยธรรมจีนจริงๆ ยังไงก็ต้องมาหาชั้นคนเดียวอยู่ดี”
ศ.หลิวหย่ง ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ดนตรีจีน วิทยาลัยดนตรีปักกิ่ง

กู่ฉินที่ทำแบบโบราณราคาสูงกว่าแบบสมัยใหม่ เพราะอะไร


รูปภาพ

กู่ฉินที่ทำแบบโบราณราคาสูงกว่าแบบสมัยใหม่ เพราะอะไร
ต้นทุน 
โรงงานต้องซื้อไม้อายุ500+ปีทั้งหมดมาคัดเลือก ใน100แผ่นมีเพียง20แผ่นที่ใช้ได้ 20แผ่นมีแพียง3แผ่นเท่านั้นที่ดีมาก และ1ใน2คือไม้ที่ศิษย์น้องใช้ทำกู่ฉิน แล้วไม้ที่เหลือล่ะ 19แผ่นพอขายได้ แต่อีกเกือบ80แผ่นที่เหลือทำทิ้งฟืนหมดเลย!
การเคลือบ
ยางรักและผงเขากวางเกรตสูงสุดในประเทศ เคลือบโดยการชุบฟองน้ำทะเลแท้มาทาบนไม้ 90%ของยางเคลือบจะซึมเข้าไปในฟองน้ำ ซึ่งนั่นคือส่วนที่ใช้ไม่ได้ต้องทิ้งทั้งก้อน นั่นหมายความว่ามีเพียง10% เท่านั้นที่ได้ใช้จริง (วัสดุอื่นใช้เคลือบไม่ได้ ชั้นเคลือบจะทึบเกินไป)
ไม้ประกอบ 
จื่อถานแท้ อายุหลายร้อยปี กู่ฉินหนึ่งตัวใช้ไม้จื่อถานเกือบ3กิโลกรัม ตกราคาประมาณ3หมื่นกว่าบาท
สรุปวัสดุทั้งหมดที่ใช้ในการทำกู่ฉินแบบดั้งเดิม (แบบเอามากองรวมกัน โดยไม่รวมค่าแรงช่างไม้ ช่างเคลือบ ค่าขนส่ง ค่าเสียเวลา(2ปี) กำไรนายทุน) ต้นทุนต่อตัวจะไม่ต่ำกว่า3แสนบาทครับ
ในขณะที่กู่ฉินแบบสมัยใหม่ใช้การอบแห้งไม้ เคลือบด้วยวัสดุเคมี ใช้เวลาทำทั้งสิ้นไม่ถึง1เดือน เกรตคุณภาพพอใช้ได้ต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ3หมื่นกว่า แต่โรงงานสามารถขายในราคาสูงได้มากกว่าหลายเท่า

ส่วนประกอบที่คิดไม่ถึง


รูปภาพ

ด้วยความเรียบง่ายของกู๋ฉิน ทำให้คนคงนึกไม่ออกว่าส่วนประกอบรอบๆตัวกู่ฉินนั้นล้วนแล้วแต่มีเหตุผลของมันโดยทั้งสิ้น ตอนนี้เราจะพูดถึง “กันชน” สำคัญรอบๆตัวของกู่ฉินครับ
กันชนของกู่ฉินมีหลักๆอยู่3ที่ ได้แก่ ส่วนหัว มีรูปทรงคล้ายขา ทำหน้าที่ป้องกันลูกบิดจากการกระแทกเวลาเคลื่อนย้าย เพราะถ้าลูกบิดโดนนิดเดียวเสียงอาจเพี้ยนไปได้เยอะมากๆ ตามด้วยส่วนหางด้านบนและล่าง สังเกตุว่าจะทำจากไม้เนื้อแข็ง ทำหน้าที่กันสายจากการกระแทกเช่นกัน ตรงนี้ก๋สำคัญไม่แพ้จุดอื่นๆ เพราะถ้าสายขาดตรงละก็ต้องเปลี่ยนใหม่ทันที

ใครเป็นกำหนดว่ากู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีแห่งปราชญ์?


รูปภาพ

ใครเป็นกำหนดว่ากู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีแห่งปราชญ์? และเพราะไปตั้งเงื่อนไขแบบนี้รึเปล่าที่ทำให้กู่นฉินไม่เป็นที่แพร่หลาย? (ฟังประกอบhttp://youtu.be/oQXV8FwyeuY)
สิ่งใดก็แล้วแล้วแต่ที่เกิดโดยฝีมือของมนุษย์ ล้วนแล้วแต่เกิดจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทั้งสิ้น เช่น บ้านทรงโดมแบบมองโกลที่สามารถพับเก็บได้เพื่อด้านลมและสะดวกในการอพยบ ดนตรีฮาวายฟังสบายก็เกิดจากการเลียนแบบคลื่นลมทะเล หรือแม้แต่ไม้ตีแมลงที่มีผลิตมากกว่าในเขตร้อนของโลก เป็นต้น กู่ฉินก็เช่นกัน ดนตรีกู่ฉินเกิดจากกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาจีนโดยตรง ซึ่งจะเน้นเรื่องความการแปรเปลี่ยนอย่างไม่สิ้นสุดของสรรพสิ่ง บนพื้นฐานของความเรียบง่ายเป็นสำคัญ ดังนั้นดนตรีกู่ฉินจึงมีความเงียบค่อนข้างมากเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว ทั้งยังทำให้ผู้บรรเลงมีเวลาทบทวนตนเองอีกด้วย และเนื่องจากปรัชญาเป็นสิ่งที่มีผู้สนใจไม่มากนัก จึงเป็นเหตุให้กู่ฉินไม่เป็นที่แพร่หลายนั่นเองครับ

ความยากอย่างหนึ่งในโน้ตโบราณ


เพลงกู่ฉิน นิยมเปิดปิดด้วยฮาร์โมนิค โดยฮาร์โนนิคตอนต้นเพลงนั้น จะเป็นโน้ตและจังหวะสำคัญในตัวบทเพลงทั้งหมด ซึ่งถูกขยายออกมา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีโน้ตกำกับอย่างชัดเจนว่าต้องเล่นโน้ตไหนปิดเพลงบ้าง แต่โน้ตหลีเซาฉบับนี้พิเศษหน่อย ฮาร์โนมิคจบด้วยคำว่า 入本调泛 อ่าน รู่เปิ่นเตี้ยวฟ่าน หมายถึง ฮาร์โมนิคด้วยบันไดเสียงเดิม นั่นหมายความว่านักดนตรีต้องแต่งทำนองจบด้วยตัวเอง โดยต้องสอดคล้องกับทำนองเพลงมากที่สุด ซึ่งก็เป็นโจทย์ยากอีกโจทย์ของนักกู่ฉินเช่นกัน ซึ่งฉบับที่ผมเรียบเรียงนี้ จะยังคงรักษาเจตนารมณ์ต้นฉบับไว้อย่างชัดเจน โดยผู้เรียนทุกคนจะต้องเรียบเรียงฮาร์โมนิคด้วยตัวเอง หากไม่รอดจริงๆครูถึงจะแนะนำเป็นทางเลือกสุดท้าย
 
 รูปภาพ

แยกแยะให้ออก


รูปภาพ

คำตำหนิที่ร้ายแรงมากในวงการกู่ฉินสมัยโบราณ อาทิ “ดีดมาเสียงดังโหวกเหวกแบบนี้ ไม่ใช่ฉิน แต่เป็นเจิง” หรือ “ถ้าดีดฉินไม่ชัดแบบนี้ ไปดีดเจิงเถอะ” ประโยคดังกล่าวถึงแม้นจะให้ความรู้สึกถึงการเหยียดทางดนตรี แต่นั่นก็ยังแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ทางดนตรีที่แตกต่างอย่างชัดเจนของทั้งสองเครื่องเช่นกัน ฉนั้นแล้วการเข้าใจวัตถุประสงค์ของศาสตร์อย่างแจ่มแจ้ง จึงเป็นสิ่งแรกสุดที่เราควรจะรู้ก่อนที่จะศึกษาอะไรก็ตามในโลกใบนี้ และเมื่อรู้วัตถุประสงค์อย่างชัดเจนแล้ว จะเรียนกี่ศาสตร์พร้อมกัน ก็ไม่มีวันหลงทางแน่นอน

กู่ฉินและการร้องเพลง


รูปภาพ
เครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลกคือเสียงร้องของมนุษย์ เครื่องดนตรีที่สร้างโดยมนุษย์เป็นเพียงวิธีการนำเสนอชั้นสองเท่านั้น ฉนั้นแล้วเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องและซึมซาบในรากของอารยธรรม นักเรียนควรร้องเพลงในอารยธรรมนั้นๆได้ด้วย เพื่อจะนำฐานความรู้เหล่านี้ ไปขยายความเข้าใจในการเข้าใจการนำเสนอ วิเคราะห์โครงสร้างและตีความ รวมไปถึงการชำระโน้ต ด้วยเหตุนี้นักเรียนกู่ฉินที่มาเรียนใหม่ทุกคน บังคับให้เรียนเพลงที่มีการร้องไปด้วย ซึ่งผมเองก็ได้สั่งซื้อหนังสือมาอ่านเพื่อเตรียมการสอนเพิ่มเติมด้วย ได้แก่ “ประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของฉินเกอ” และ “อรรถาธิบายและแปลเนื้อร้องฉินเกอโบราณ” แนวคิดการร้องเพื่อเล่นเครื่องดนตรีนั้น ไม่ได้มีเพียงในดนตรีจีนเท่านั้น แต่นักดนตรีคลาสสิคมืออาชีพหลายๆคน ก็ต้องผ่านด่านนี้เช่นกัน

ขุมทรัพย์ล้ำค่า


รูปภาพ

ขุมทรัพย์ล้ำค่า
โน้ตกู่ฉินฉบับซีรอกสมัยที่เรียนกับ ศ.หลี่เสียงถิงตั้งแต่เมื่อสี่ห้าปีก่อน โน้ตทั้งหมดแกเขียนด้วยมือล้วนๆ

แคนจีน ของจีนจริงรึเปล่า?


รูปภาพ
พอดีคุยกับพี่ปุ้ม พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีโลกท่านหนึ่งของเมืองไทย เรื่องแคนจีนในข้อความส่วนตัวของแอดมินชัช เห็นว่าข้อมูลของงพี่ปุ้มน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านมาก เลยขอนำมาแบ่งปันครับ ประโยคล่างต่อไปนี้พี่ปุ้มพิมพ์ตอบแอดมินชัชมาครับ
“เครื่องดนตรีนี้ไม่ใช่ของจีน มันเป็นเครื่องดนตรีพวก aslian คำที่เรียกพวกมนุษย์ที่เข้ามาบุกเบิกอุษาทวีปยุคแรกๆ เล่นกันในพวกอัสเลียนทั้งเหนือและใต้ พวกเหนือได้แก่พวกเยว่โบราณที่จีนเรียก เยว่ร้อยเผ่า หรือ พวกหมาน ซึ่งคิดว่าจีนน่าจะรับเครื่องดนตรีนี้ไปจากพวกเยว่ที่ตนพิชิตได้ เป็นเครื่องดนตรีไม้ไผ่ที่มีมาก่อนยุคสำริด ลิ้นที่อยู่ข้างใน นักดนตรีวิทยาเรียกว่า free reed ที่คนทั่วไปไม่รู้คือ มันเผยแพร่ไปไกลถึงยุโรป และโลกตะวันตกรับไปใช้มาแต่โบราณ มันอยู่ในเครื่องประเภท accordion และ harmonica จนทุกวันนี้ แต่เดิมมีเลาเดียว ลื้อเรียก ปี่ลื้อ ไตอื่นเรียก ปี่จุม หรือ ปี่เฉยๆ ถ้าพบคำนี้ในหนังสือโบราณ มันไม่ได้หมายถึงปี่ตระกูล shehnai ซึ่งเข้ามาทีหลังกับพวกแขก ปี่นี้ต่อมาเพิ่มเลาปี่มากขึ้นแล้วเอาเสียบในน้ำเต้า เรียก ปี่เต้า คนจีน เรียก ขูหลู่ซือ ต่อมาเสียบหลายเลาขึ้น กลายเป็น แคน ที่พวกไตเล่น แม้วเรียก เค่ง…. แม้แต่พวกดายัค ในบอร์เนียวก็เล่นเครื่องพวกนี้ ซึ่งนั่นทำให้เรารู้ว่าเครื่องพวกนี้มีอายุไม่ต่ำกว่าเจ็ดพันปี เพราะ free reed ยุคแรก ทำจากไม้ไผ่ก่อน มันเริ่มใช้ในปี่เขาสัตว์ก่อน และเราพบการสร้างแบบเดียวกันนี้ทั้งจากกะเหรี่ยง ม้ง โลโล ที่อยู่ทางเหนือ กับพบในพวก เผ่าโบราณ อย่าง อิบัน ดายัค ในกลุ่มมาลาโยโพลินิเชียน เครื่องนี้คงมีมาก่อนที่น้ำจะท่วมซุนดาแล้ว หลักฐานที่เป็นทางการอยู่บนภาพสลักบนกลองสำริด อายุ ราวสี่พันปีเป็นอย่างน้อย”
ฟังแคนจีน http://www.youtube.com/watch?v=rUPa6o-fR9g

แตกลายงาบนกู่ฉิน


รูปภาพ

ต้วนเหวิน 断纹 หรือการแตกลายงา เป็นสิ่งที่แสดงอายุเก่าแก่ของกู่ฉิน เกิดต้วนเหวินนั้นมีหลายปัจจัย หนึ่ง การหดตัวของไม้ สอง วัสดุที่ใช้เคลือบ(วัสดุธรรมชาติเท่านั้น ถ้าเคมีแบบที่ใช้กันทุกวันนี้ไม่กี่สิบปีก็แตกลายแล้ว) สาม ความหนาของชั้นเคลือบ และสี่สภาพอากาศ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะสรุปว่ากี่ร้อยปีถึงจะเกิดต้วนเหวินกันแน่ แต่ไม่ว่าจะกี่ร้อยปีก็ตาม ต้วนเหวินได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของกู่ฉินที่เป็นของเก่า ซึ่งทำให้มันมีคุณค่าและราคามากขึ้น ถึงขนาดว่าสมัยโบราณมีการทำปลอมกันเลยทีเดียว
แต่การทำต้วนเหวินปลอมทุกวันนี้เป็นเรื่องที่รับได้ เพราะถือเป็นความงามอีกแบบที่ไม่ต้องรอเก่า ด้วยการใส่สารเคมีบางอย่างลงไป ไม่ถึงเดือนก็แตกออกมาอย่างงดงามแล้ว แต่ก็ทำให้อายุการใช้งานก็สั้นลงไปด้วย

Vibrato แบบต่างๆของกู่ฉิน


รูปภาพ
ตารางการ 吟猱 อิ่นเหนา หรือ Vibrato แบบต่างๆของกู่ฉิน ในบทความวิจัยของ ศ.ติงเฉิงอวิ้น
การ Vibrato 60กว่าแบบของกู่ฉินนั้น ถูกสะสมและพัฒนามาตั้งแต่ราชวศ์สุย รวมแล้วประมาณ1300ปี ซึ่งจะแตกต่างจากแนวคิดของตะวันออกพอสมควร เพราะความละเอียดของแต่ละประเภทก็จะแสดงออกซึ่งอารมณ์ต่างกันออกไป นอกจากนี้มันยังแสดงให้เ็นถึงความเข้าใจในการจัดการกับช่องว่างของนักดนตรีอีกด้วย (ความลึกซึ้งทางวัฒนธรรมจีน) อ.หวังเผิง ช่างทำกู่ฉินอับดับหนึ่งในจีนเคยกล่าวว่า “ไม่มีอิ่นเหนา ก็เท่ากับไร้วัฒนธรรม” ฉนั้น นี่ยิ่งเป็าการเน้นย้ำว่า กู่ฉินให้ความสำคัญกับความเข้าใจ มากกว่าความคล่องตัวของ “นิ้ว” ที่ว่างเปล่าครับ

ความสุกใสของกู่ฉิน


รูปภาพ

ใสสว่าง 透亮 เป็นคำจำกัดความคุณสมบัติภายนอกของการเคลือบรักธรรมชาติของกู่ฉิน ซึ่งจะมีชั้นนอกที่หนาประมาณครึ่งมิลที่ถูกเคลือบด้วยยางรักชนิดใส (กู่ฉินทั้งตัวจะถูกเคลือบหนาประมาณ2มิล) ทำให้สามารถมองทะลุลงไปได้เล็กน้อย คล้ายมีเยลลี่บางๆเคลือบเอาไว้อยู่นั่นเอง กู่ฉินที่เคลือบด้วยสารเคมีจะไม่เป็นแบบนี้ครับ

โน้ตกู่ฉินระบบใหม่


รูปภาพ

โน้ตกู่ฉินแบบดั้งเดิมได้บันทึกวิธีการบรรเลงโดยละเอียด แต่ไม่ได้บันทึกจังหวะเอาไว้เลย ทำให้มีนักวิชาการนำโน้ตดังกล่าวไปวางเคียงกับบรรทัดห้าเส้นของสากล ซึ่งก็ช่วยในเรื่องการเผยแพร่ได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรค์แก่ผู้ที่ไม่เคยเรียนโน้ตสากลมาก่อน
ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้พัฒนาระบบบันทึกโน้ตกู่ฉินขึ้นมาใหม่ ให้ชื่อว่า箱谱 เซียงผู่ หรือโน้ตกล่อง ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถศึกษากู่ฉินได้ง่ายขึ้น ซึ่งผมเคยเขียนวิธีการใช้งานโน้ตชนิดนี้ในวิทยานิพนธ์จบปริญญาตรี สมัยที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง ในหัวข้อ “การสอนและการเผยแพร่กู่ฉินสำหรับคนไทย” และได้เป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่น1ใน9 (จากนักศึกษารวม200กว่าคน) จากการทดลองสอนโน้ตเซียงผู่กับนักเรียนไทยและนักเรียนจีน ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยศึกษาดนตรีอื่นมาก่อน ก็ได้ผลที่น่าพอใจอย่างมาก แต่ปัจจุบันผมได้พัฒนาโน้ตเซียงผู่ไปไกลอีกขั้น ซึ่งกำลังจะเขียนวิธีการใช้ใหม่เป็นภาษาจีน เพื่อนำกลับไปเผยแพร่ในแผ่นดินแม่ของดนตรีอีกครั้ง ด้วยความช่วยเหลือจากศิษย์น้องของผม หวังสือ ผู้เชี่ยวชาญด้านโจวอี้และปรัชญาจีนโบราณ มีความคืบหน้าอย่างไรจะมารายงานเรื่อยๆครับ
(ขวา) โน้ตกู่ฉินแบบโบราณต้นฉบับ ตำรา神奇秘谱 สมัยราชวงศ์หมิง 
(ซ้าย) โน้ตเซียงผู่

การห่อผ้าดิบก่อนเคลือบ


รูปภาพ

การใช้ผ้าดิบห่อรอบตัวกู่ฉิน ก่อนที่จะเคลือบด้วยยางรักผสมเขากวาง นอกจากจะช่วยในเรื่องความแข็งแกร่งทนทานแล้ว (หลักการเดียวกับโครงเหล็กในอาคาร) ยังมีส่วนช่วยในเรื่องของเสียงอีกด้วย อย่างแรกคือมันจะรัดไม้แผ่นบนและแผ่นล่างได้อย่างหนาแน่นขึ้น ซึ่งจะทำให้กู่ฉินสั่นสะเทือนได้ดีขึ้น อย่างที่สองคือไม่ว่าคุณจะกดสายตรงจุดไหนของเครื่อง เส้นใยผ้าจะเป็นตัวทำหน้าที่ส่งการสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งตั้ว ทำให้กู่ฉินมีการสั่นสะเทือนไปทั้งระบบ ซึ่งนี่คือหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของกู่ฉินที่คุณภาพดีนั่นเองครับ

ปัจจัยการทำกู่ฉินที่ดี


รูปภาพ

ช่างทำฉินสมัยราชวงศ์ถัง กล่าวถึงการทำกู่ฉินที่ดีไว้ว่า
选良材 เลือกวัสดุดี
用意深 ใช้อย่างเชี่ยวชาญ
五百年 ห้าร้อยปีผ่านไป
有正音 เสียงก็คงมาตราฐานเดิม (เหมือนตอนเพิ่งทำ)
วัสดุในการทำกู่ฉินที่ดีนั้น ต้องเป็นไม้ที่มีอายุเก่าแก่ตากลมฝนมาแล้วเป็นร้อยๆปี ต่อให้เวลาผ่านไปห้าร้อยปี ก็ยังคงเสียงดีเหมือนเมื่อห้าร้อยปีก่อนอยู่ นั่นเพราะว่าไม้เก่าแห้งสนิทแล้ว ถ้าใช้ไม้ใหม่ที่ยังคลายความชื้นได้อยู่ ไม้จะยังหดหรือขยายตัวได้ แม้เพียงครึ่งมิลก็ทำให้กู่ฉินเพี้ยนได้แล้ว ดังนั้นเราจะเห็นว่าการทำกู่ฉินที่ดีนั้น วัสดุ มาเป็นที่หนึ่งครับ (ถ้าได้ช่างฝีมือไม่ดี มันก็จะไม่ดีไปอีกห้าร้อยปี ฉนั้นฝีมือช่างมาเป็นอันดับสองครับ)

เรียนกู่เจิง ต้องเรียนกู่ฉิน?


รูปภาพ

ยังมีความเข้าใจผิดว่าเรียนกู่เจิงแล้วต้องเรียนกู่ฉิน หรือเรียนกู่ฉินแล้วต้องเรียนกู่เจิงด้วย เพราะมันคือเครื่องดนตรีที่มาจากรากเดียวกัน มันจะได้ความเกี่ยวโยงอะไรซักอย่าง แล้วอะไรล่ะ
ความจริงก็คือ ถึงแม้ว่ากู่เจิงจะพัฒนามาจากกู่ฉิน แต่อย่าลืมว่าการที่มันจะเกิดเป็นสิ่งใหม่ นั่นหมายถึงบริบทในแวดล้อมนั้นๆมีความต้องการที่เปลี่ยนไปในอีกมิติหนึ่ง เช่นเดียวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต “กู่เจิงนำเสนอสู่โลกภายนอก กู่ฉินเก็บเข้าสู่โลกภายใน” นี่เป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง แน่นอนว่าการเรียนทั้งสองเครื่องพร้อมกันไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ แต่คุณต้องชัดเจนในจุดยืนของตัวเองและหน้าที่ของดนตรีนั้นนั้นด้วยเช่นกัน
ปล. คำอธิบายดังกล่าวเป็นการชี้แจงสำหรับผู้ที่มาสายดั้งเดิมเท่านั้น ไม่รวมไปถึงดนตรีโลกสมัยใหม่
ภาพ ขึ้นแสดงในเวทีมหาวิทลัยครูปักกิ่ง ในรายการ กู่ฉิน มรดกโลกสู่คนรุ่นใหม่

การทำความเข้าใจในศิลปะ


ในการเสพงานศิลปะใดๆก็ตาม ไม่ว่าจะเรียบง่ายหรือซับซ้อน ผู้เสพควรมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผลงานนั้นๆ ถึงจะสามารถซาบซึ้งและเข้าใจไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ นักดนตรีคลาสสิคต้องหาข้อมูลและบริบทแนวคิดสังคมที่เกี่ยวข้องกับบทเพลงที่จะบรรเลง เพื่อการแสดงออกอย่างเข้าถึงยิ่งขึ้น กู่ฉินซวยหน่อย ที่เพลงเกิดมาจากปรัชญา
 
 รูปภาพ

เรียนกู่ฉิน เรียนอะไร


รูปภาพ

แนวคิดของดนตรีกู่ฉินคือ การศึกษาวัฒนธรรมปรัชญาพร้อมความบันเทิง นั่นหมายความแนวคิดเป็นสิ่งที่มาก่อนเสียงดนตรี ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่โบราณมาผู้ที่บรรเลงกู่ฉินได้จะไม่ถูกเรียกว่านักดนตรี แต่จะถูกเรียกว่า 文人 เหวินเหริน ซึ่งหมายถึงปัญญาชน แต่ถ้าหากศึกษาลงลึกอย่างจริงจังหน่อย จะถูกเรียกว่า 琴人 ฉินเหริน หมายถึงนักกู่ฉินศึกษา ตั้งแต่โบราณมาผู้ที่ถูกเรียนว่าฉินเหริน นอกจากจะมีฝีมือการบรรเลงที่ใช้ได้แล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มีผลงานวิชาการอีกด้วย อาทิ เรียบเรียงตำราทฤษฎีกู่ฉิน รวบรวมโน้ตโบราณ สังคายนาโน้ตแต่ละราชวงศ์ วิเคราะห์บทเพลงหรือแม้แต่วิเคราะห์ปรัชญาแต่ละแขนงที่มีอิทธิพลต่อบทเพลง เป็นต้น 
ตรงข้ามกับนักกู่ฉินที่ผมเคยสัมผัสมามากมายจากการร่วมเวทีตามที่ต่างๆในปักกิ่ง เกือบทั้งหมดเน้นกันไปในเรื่องการบรรเลงล้วนๆ เจอหน้ากันต้องถามว่าเล่นเพลงระดับไหนแล้ว เรียนเทคนิคสมัยใหม่บ้างรึยัง ออกแสดงที่ไหนบ้าง เวทีใหญ่มั้ย เล่นให้ผู้นำคนไหนฟัง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าพวกเค้าแทบไม่สนใจแนวคิดอีกต่อไปแล้ว และเนื่องจากบุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขตามวิถีโบราณ เราจึงเรียกพวกเค้าว่าปัญญาชนหรือนักกู่ฉินศึกษาไม่ได้ แต่ควรเรียกว่า 古琴演奏家 กู่ฉิน เหยี่ยนโจ้ว เจีย หมายถึง “นักบรรเลงกู่ฉิน” ถึงจะเหมาะสมที่สุด

ความสับสนในการเรียกชื่อสายกู่ฉิน


รูปภาพ

ปัจจุบันนี้สายของกู่ฉินเรามักจะเรียกด้วยตัวเลขจีนทั้งเจ็ด 一二三四五六七 โดยสายที่一 เป็นสายนอกสุด ซึ่งเป็นสายเสียงต่ำสุด (นับตรงข้ามกับกู่เจิง กู่เจิงสายในสุดคือสายที่1) 
แต่ในสมัยก่อนราชวงศ์ถัง สายกู่ฉินทั้งเจ็ดมีชื่อเฉพาะดังนี้ 宫 商 角 徵 羽 文 武 (กง ซาน เจวี๋ย จื่อ อวี่ เหวิน หวู่) 5ตัวแรกคือชื่อลำดับโน้ตสำคัญในระบบเพนทาโทนิคจีน (ด ร ม ซ ล) 2ตัวหลัง 文 หมายถึง พระเจ้าโจวเหวินหวาง 武 หมายถึง พระเจ้าโจวหวู่หวาง (นักกู่ฉินยุคสร้างเทพนิยายอันสูงส่งอ้างว่า กู่ฉินเดิมมี5สาย แต่กษัตริย์ทั้งสองเพิ่มคนละสาย เลยทำให้กู่ฉินมี7สาย ซึ่งจริงๆในยุคนั้นมีทั้ง 1สาย 5สาย 7สาย 9สายและ10สาย)
แต่สิ่งที่ขัดแย่งในระบบข้างต้นคือ เสียง 宫 กง (โด) ในกู่ฉินคือสายที่3 ไม่ใช่สายที่1ตามชื่อที่เรียก เพราะอะไร เพราะว่าชื่อสายกู่ฉินดังกล่าว ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับตัวโน้ตเลย มันเป็นเพียงชื่อเรียกให้สวยๆเท่านั้น เพราะว่ากู่ฉินสามารถตั้งสายได้หลายตีย์มาก ดังนั้นตัว宫 หรือโด ก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดังนั้นเค้าจึงเรียกชื่อเหล่านี้ว่า 琴宫 ฉินกง หรือกงบนกู่ฉิน
แล้วทำไมต้องเรียกให้งงแบบนี้ด้วยล่ะ? นั่นเพราะว่าสมัยก่อนถัง การบันทึกโน้ตเป็นระบบจดตำแหน่งการเล่น ไม่ได้จดชื่อตัวโน้ต ดังนั้นชื่อเหล่านี้จะไม่ไปขัดแย้งกับระบบเสียงเลย เช่น นิ้วกลางดีด宫 ถ้าปัจจุบันเราจะเรียกว่า ดีดสาย1 นั่นเองครับ

วัสดุและอิทธิพลต่อดนตรี


รูปภาพ

ในวงการกู่ฉิน มีคำว่า 古曲,声多韵少 แปลว่า เพลงโบราณนั้น (โบราณในที่นี้หมายถึงก่อนราชวงศ์ถัง) มักจะมี “เซิง” มาก แต่ “อวิ้น” น้อย เซิงหมายถึงเสียงสายเปล่า อวิ้นหมายถึง เสียงรูดสายไปมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในความเรียบง่ายของคนยุคโบราณ ซึ่งจุดนี้วัสดุก็มีอิทธิพลโดยตรงครับ ในยุคก่อนราชวงศ์ถังคนจีนจะใช้ไม้ถงในการทำกู่ฉิน ซึ่งจะให้เสียงทีโปร่ง แต่ไม่สามารถบรรเลง “อวิ้น” ได้มากนัก เพราะเนื้อไม้ที่หยาบทำให้หางเสียงอยู่ได้ไม่นาน แต่ต่อมาช่างสกุลเหลยสมัยราชวงศ์ถัง ได้ค้นพบว่าไม้ซานสามารถทำให้หางเสียงกู่ฉินยาวกว่า อีกทั้งเสียงยังชัดและละเอียดกว่ามาก จึงทำให้เพลงยุคหลังกลายเป็น 韵多声少 “อวิ้น”มาก “เซิง”น้อยนั่นเอง ซึ่งหลักการนี้ยังสามารถใช้ในการแยกแยะยุคสมัยของเพลงได้คร่าวๆด้วยครับ
ภาพ ไม้ถง

แค่เรียนดนตรีกู่ฉิน ทำไมจะต้องสัมภาษณ์กันจริงจังขนาดนี้


รูปภาพ

คงเป็นที่น่าสงสัยของหลายๆท่านว่า แค่เรียนดนตรีกู่ฉิน ทำไมผมจะต้องสัมภาษณ์กันจริงจังขนาดนี้ ปัญหาคือกู่ฉินเป็นดนตรีที่ไม่ได้เริ่มจากอารมณ์ทั่วไปของมนุษย์ครับ แต่เป็นดนตรีที่เริ่มจากแนวคิด และไม่ใช่แนวคิดธรรมดาด้วย เป็นปรัชญาและศาสนา นั่นหมายความว่านักกู่ฉินจะต้องให้สำคัญในเรื่องของความคิด การใช้ดุจยพินิจพิจารณาเรื่องต่างๆรอบๆตัว มากกว่าการบรรเลงที่ไพเราะ 
การสัมภาษณ์นั้นจะทำให้ผู้ที่สนใจเรียน ได้ชัดเจนว่าแนวคิดของตัวเองนั้นเหมาะสมที่กับกู่ฉินหรือไม่ ไม่ใช่เรียนไปแล้ววันนึงมาพบว่ามันขัดแย้งกับวิถีของตนเอง ที่เรียนมานานไหนจะเรื่องเวลา ไหนจะเรื่องค่าใช้จ่ายมันจะศูนย์เปล่า 
การที่คุณสอบสัมภาษณ์ตก ไม่ใช่ว่าคุณไม่สูงส่งพอที่จะเรียนกู่ฉิน แต่มันหมายถึงว่ากู่ฉินไม่เหมาะกับแนวดำเนินชีวิตคุณมากกว่าครับ ผมในฐานะครูมองว่า การรับผู้เรียนโดยไม่ประเมิณความพร้อม ถือเป็นความเลวร้ายที่สุดอย่างหนึ่งของการศึกษาครับ

ทำไมการขอเพลงกับนักกู่ฉิน จึงเป็นการผิดธรรมเนียม


รูปภาพ
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าดนตรีกู่ฉิน ไม่เพียงเป็นดนตรีเพื่อความบันเทิงเชิงผ่อนคลายเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสะท้อนความคิดเชิงลึกของผู้เล่นให้ตัวเองฟังด้วย กล่าวคือ “กู่ฉินคือกระจก” ฉนั้นแล้วนักกู่ฉินแต่ละท่านก็จะเลือกเพลงที่มีนัยปรัชญาที่ตรงกับแนวทางชีวิตของท่านนั้นๆมาฝึก ซึ่งหน้าที่ของกู่ฉินจริงๆก็คือเครื่องมือช่วยให้คิดอีกเครื่องมือหนึ่งนั่นเอง 
อีกทั้งเราอาจเคยได้ยินว่านักกู่ฉินจะเลือกบรรเลงให้กับผู้ฟังที่เหมาะสมด้วย ฟังดูเผินแล้วหยิ่งยโสน่าดู แต่ไม่ใช่แบบนั้นครับ ในเมื่อกู่ฉินคือสื่อกลางความคิดแล้ว ฉนั้นนักกู่ฉินก็ต้องเลือกที่จะบรรเลงให้ผู้ที่คิดคล้ายๆตน มีอุดมการณ์คล้ายๆกันฟัง ถึงจะรู้เรื่อง (พวกขี้โม้ชอบบอกว่าต้องคนล้ำลึกเท่านั้นถึงจะฟังกู่ฉินออก นอกจากจะยกหางตัวเองแล้ว ยังจะทำให้คนกลัวกู่ฉินเข้าไปอีก)
และด้วยที่กู่ฉินเป็นสื่อกลางความคิดชิงลึก(วิถีชีวิต) ฉนั้นการไปขอเพลงกับนักกู่ฉิน จะไม่ต่างกับการไปถามเค้าว่า “เธอมีมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของเธอยังไง” เลยครับ ซึ่งคำถามนี้โคตรจะส่วนตัวเลย จริงมั้ยครับ